เผยอยู่บ้านตึกเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด สูดก๊าซ"เรดอน"จาก"หิน-ทราย"
2013-12-06 15:07:39
ก๊าซ"เรดอน"ภัยเงียบในบ้าน เสี่ยงมะเร็งปอด สทน.เตือนคนไทยให้ระวัง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แนะเจ้าของบ้าน ตึก ใช้หิน ดิน ทราย ตรวจสอบปริมาณ"เรดอน" เผยเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไร้รส ซึมออกมาทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ เสี่ยงมะเร็งปอด
ก๊าซ"เรดอน"ภัยเงียบในบ้าน เสี่ยงมะเร็งปอด สทน.เตือนคนไทยให้ระวัง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แนะเจ้าของบ้าน ตึก ใช้หิน ดิน ทราย ตรวจสอบปริมาณ"เรดอน" เผยเป็นก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไร้รส ซึมออกมาทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ เสี่ยงมะเร็งปอด
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม นายสมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่สร้างบ้านเป็นคฤหาสน์หลังใหญ่ หรือสร้างตึกสูง เลือกใช้วัสดุที่ราคาแพง สวยงาม แข็งแรงคงทน หรูหรา เช่น คอนกรีต หินแกรนิต หินอ่อน กระเบื้องโมเสคต่างๆ ปรากฏเหล่านั้นกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เพราะจากการเก็บข้อมูลวิจัยของ สทน.ที่ศึกษาเกี่ยวกับก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการเสื่อมสลายตัวของธาตุยูเรเนียมซึ่งมีปะปนอยู่ในหินดินทรายทั่วโลก จนกลายเป็นเรเดียมและกลายมาเป็นก๊าซเรดอนในที่สุด
"พบว่า เมื่อมีการหายใจเอาก๊าซเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ก๊าซเรดอนจะสลายตัวปล่อยรังสีอัลฟาพลังงานสูงออกมาทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและอาจจะกลายเป็นมะเร็งในที่สุด" นายสมพรกล่าว และว่า เรดอนเป็นก๊าซที่เกิดจากธรรมชาติ ปะปนอยู่ในชั้นหิน แร่หิน มีคุณสมบัติคือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ สามารถแทรกตัวผ่านพื้นดินเข้ามาในตัวบ้านโดยตรงหรือผ่านทางท่อ รูเปิดต่างๆ และรอยแตกร้าว นอกจากนั้น ยังอาจจะมาจากหินหรือทรายที่มีแร่เรเดียมปนเปื้อน แล้วนำมาใช้ในการสร้างบ้าน มีข้อมูลระบุว่าก๊าซเรดอนที่สะสมในบ้านเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและทำให้ผู้ป่วยในสหภาพยุโรปเสียชีวิตปีละ 20,000 ราย ขณะที่สหรัฐอเมริกาพบว่า บ้าน 1 ในทุก 15 หลัง จะมีระดับก๊าซเรดอนสูง ทางองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศจัดให้ก๊าซเรดอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2531 หรือ 25 ปี มาแล้ว
ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. Environmental Protection Agency; EPA) ได้กําหนดระดับก๊าซเรดอนในอาคารที่พักอาศัยไว้ที่ 148 Bq/ปริมาตรอากาศ และกำหนดเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ก๊าซเรดอนจะมีปริมาณน้อยกว่า 148 Bq/ปริมาตรอากาศ ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรจะต้อง ลดปริมาณลงให้น้อยกว่านี้อีก
"เจ้าของบ้านอาจจะไม่รู้ว่ามีก๊าซชนิดนี้วนเวียนอยู่ในบ้านเราหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าบ้านเรามีก๊าซเรดอนในปริมาณสูงมากน้อยเพียงใด เพราะในประเทศไทยมีเครื่องมือในการวัดปริมาณก๊าซเรดอนและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ที่ สทน.ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่เป้าหมายได้ผลอย่างแม่นยำ ถึงแม้ จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีก๊าซเรดอน แต่เราสามารถลดปริมาณก๊าซเรดอนภายในบ้านได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การออกแบบบ้านให้มีช่องระบายอากาศ และไม่ ปิดทึบจนเกินไป การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีสารกัมมันตรังสี และการระบายอากาศภายในบ้าน โดยการเปิดประตู หน้าต่าง และช่องระบายลม เพื่อไม่ให้มีก๊าซเรดอนอยู่ภายในบ้านสูงเกินไป และที่สำคัญคือ การอุดรอยร้าวและรอยแยก ตามพื้นและผนังของบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรดอนเข้าสู่ภายในบ้าน" นายสมพรกล่าว
นายสมพรกล่าวว่า หากผู้ประกอบการบ้านจัดสรร โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรที่มีราคาสูงใช้วัสดุอย่างดีในการก่อสร้างบ้าน เพราะไม่ว่าจะเป็นทรายที่นำมาผสมกับปูน หินแกรนิต หรือใยหินต่างๆ อาจมีก๊าซเรดอนปะปนอยู่ แต่ไม่ทราบว่ามากน้อยเท่าไหร่ ขอแนะนำผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับ สทน. เพื่อขอรับบริการวัดก๊าซเรดอนได้ สทน.จะนำเครื่องวัดก๊าซเรดอนไปให้บริการวัดก๊าซเรดอนให้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่อันตรายหรือไม่
น.ส.พชิรารัฐ โสลา นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ กล่าวว่า สนท.เคยนำเครื่องมือไปตรวจวัดปริมาณก๊าซเรดอนในคฤหาสน์ใหญ่ของผู้มีฐานะหลายที่ รวมถึงตึกใหญ่ บางแห่งที่ถูกก่อสร้างด้วยหินแกรนิต พบว่า ทุกแห่งมีปริมาณก๊าซเรดอนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น
"จะพบก๊าซเรดอนมากในหินแกรนิต ซึ่งเป็นหินที่มีความแข็งแรง ทนทาน และราคาไม่สูงเกินไป จึงมีผู้นิยมนำไปสร้างบ้าน หลายรายที่ไปตรวจ พบว่า เป็นบ้านหรือบริเวณห้องที่ไม่มีอากาศถ่ายเท โดยเฉพาะบ้านหลังใหญ่ เจ้าของบ้านบอกว่า ไม่มีเวลาเปิดหน้าต่าง เพราะหน้าต่างเยอะมาก ทำให้อากาศไม่มีการถ่ายเท พบปริมาณก๊าซก๊าซเรดอนในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก หรือตึกใหญ่ๆ ที่ปูพื้นด้วยหินแกรนิต หรือฝาผนังทำจากทรายที่ออกมาจากแหล่งแร่ ที่มีปริมาณเรดอนสูง และตัวตึกมีแต่เครื่องปรับอากาศไม่มีการเปิดหน้าต่างระบายอากาศเลย กรณีแบบนี้ก็น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน" น.ส.พชิรารัฐกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีทรายตามชายหาด ซึ่งมีนักท่องเที่ยวนิยมเอาทรายมาถมตัวเองจะเป็นอันตรายหรือไม่ น.ส.พชิรารัฐกล่าวว่า ก๊าซเรดอนจะปนเปื้อนอยู่ในแร่ หิน ดิน ทราย หากไม่มีการตรวจวัดจะไม่รู้ว่ามีหรือไม่ ปริมาณเท่าใด กรณีที่เป็นทรายที่อยู่ตามชายหาดนั้น ไม่น่าเป็นห่วงนัก เพราะอยู่ในที่อากาศถ่ายเท และสัมผัสในเวลาไม่นาน อาจจะปีละไม่กี่ครั้ง แต่ที่เป็นห่วงคือกรณีที่อยู่ในบ้าน อากาศไม่ถ่ายเท
"ข้อแนะนำเบื้องต้นคือ หากบ้าน อาคาร หรือสถานที่ใด ที่มีการก่อสร้าง โดยใช้หินแกรนิต หรือสงสัยว่าพื้น ผนังบ้านตัวเองมีสารเรดอนปนเปื้อนอยู่ เพราะมีส่วนประกอบของหิน ดิน และทราย ควรจะทำการถ่ายเทอากาศในบริเวณนั้น โดยเปิดหน้าต่างบ่อยๆ หรือใช้เครื่องดูดอากาศก็สามารถกำจัดก๊าซเรดอนออกไปได้เช่นกัน" นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์กล่าว
Matichon Online
Admin : Chanya
Admin : admin
view
:
2312
Post
:
2013-12-06 15:07:39
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น