นิตยสารไทม์ชำแหละปชป. โยงม็อบเทือก
2013-11-29 14:43:38
เว็บไซต์นิตยสารไทม์ ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทความเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย หัวข้อเรื่อง "พรรคประชาธิปัตย์ของไทย ชื่อพรรคนี้ตั้งผิดอย่างฮา" (Thailand’s Democrat Party Is Hilariously Misnamed) พร้อมโปรยใจความว่า อย่าไปเชื่อการพูดถึง "ปฏิวัติประชาชน" ของกลุ่มเสื้อเหลือง - สิ่งที่เรียกร้องนั้นไม่ใช่เรื่องอื่นใดที่ต่างจากการยึดอำนาจ Don′t believe Yellow Shirt talk of a "people′s revolution" — what′s being demanded is nothing short of a putsch เขียนโดย ชาร์ลี แคมป์เบล
 
 เนื้อหาของบทความชิ้นนี้ระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่แสดงผ่านสีเสื้อปะทุขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับเรียกกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ว่ากลุ่มเสื้อเหลือง เป็นกลุ่มที่บุกยึดอาคารราชการของรัฐบาลในเมืองหลวง และศาลากลางจังหวัดอื่นๆ อีกอย่างน้อย 19 จังหวัด เพื่อเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเสื้อแดง ลงจากตำแหน่ง
  
 
 ในความเห็นของกลุ่มเสื้อเหลือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ วัย 46 ปี เป็นหุ่นเชิดของพี่ชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ หลังจากถูกรัฐประหารในปี 2549 และต้องโทษจำคุก 2 ปี ในข้อหาคอร์รัปชั่น คลื่นคนเสื้อเหลืองก่อตัวขึ้นจากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ตอนนี้ระงับไว้แล้ว ว่าจะเปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน และความพยายามของน.ส.ยิ่งลักษณ์ที่จะรวมอำนาจด้วยการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของวุฒิสภา
 
 
 ในวันอังคารที่ 26 พ.ย. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องการปฏิวัติประชาชนอีกครั้ง และให้สภารอยัลลิสต์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาแทนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการเลือกตั้ง นายสุเทพพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีจุดมุ่งหมายส่วนตัว ด้วยการประกาศว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต 
 ขณะที่มีหมายจับนายสุเทพในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการผิดกฎหมายออกมาแล้ว
 
 ยิ่งเวลาผ่านมายิ่งเป็นเหมือนละคร แต่สิ่งที่เกิดในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ราชอาณาจักรแห่งนี้เป็นจุดหมายสุดหรูของนักท่องเที่ยวหลายล้านคนทุกปี ขณะที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก และมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญชัดเจนไปกว่านั้น ประชาธิปไตยของไทยเป็นตัวอย่างกับประชากรอื่นๆ ในชาติเพื่อนบ้าน  พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม หลังจากเฝ้ามองด้วยสายตาอิจฉาการเจริญเติบโตของไทยมานาน
 
 กระทั่งการมาของพรรคชื่อกลับตาลปัตรว่าพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ท่ามกลางผู้ปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยที่แย่ที่สุด กลุ่มเสื้อเหลืองหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนไปทั่วประเทศ แต่กลับเรียกร้องสภารอยัลลิสต์ ที่ดูจะเป็นการปฏิวัติประชาชนได้ยาก
 
 ถ้าจะพูดถึงคนที่แสดงถึงการใช้พลังประชาชนแล้วล่ะก็นั่นคือผู้ลงคะแนนเสียง15 ล้านเสียงที่เลือกน.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยในเดือนกรกฎาคม 2554 และพรรคการเมืองที่พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนก็ชนะการเลือกตั้งก่อนหน้าด้วยเสียงส่วนใหญ่มาแล้ว 5 ครั้ง นโยบายประชานิยมของพ.ต.ท.ทักษิณช่วยทำให้คนในชนบทหลายล้านพ้นจากความยากจน และยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475
 
 แน่นอนว่า มีเหตุผลมากมายที่จะต่อต้านมหาเศรษฐีพันล้านคนนี้ ไม่ว่า การทำสัญญาธุรกิจหลายอย่างในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง จนเกิดข้อครหาว่าขาดจริยธรรม ส่วนสงครามกวาดล้างยาเสพติดทำให้มีการฆ่าตัดตอน 2,800 ศพ ภาพของพ.ต.ท.ทักษิณที่กำกับผู้ประท้วงจากนครรัฐดูไบ แดนสวรรค์  ขณะที่กลุ่มเสื้อแดงเสี่ยงกับการถูกจับกุม ความรุนแรง รวมถึงเสี่ยงตาย ไม่ได้ทำให้เป็นฮีโร่แต่อย่างใด แต่การที่ฝ่ายค้านล้มเหลวที่จะดึงจุดอ่อนเหล่านี้มาใช้ กลับเป็นเรื่องน่าฉงน
 
 "เรามักพูดถึงทักษิณว่า เขาขี้โกง ละเมิดอำนาจ แต่เขาก็ยังชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นเราน่าจะเริ่มตั้งคำถามถึงฝ่ายต่อต้านเขาบ้าง" นายธิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
 
 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี2535 แรงสนับสนุนของพรรคมีฐานเป็นชนชั้นกลางกรุงเทพฯ ที่ศาสตราจารย์เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์  อธิบายว่า "ขี้กลัว เห็นแก่ตัว ไร้มารยาท บริโภคนิยม และไม่มีวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของประเทศที่เหมาะสม"  พรรคนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในชนบทที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นเขตแดนของคนเสื้อแดง และกลุ่มคนที่ยังลังเลตอนเข้าคูหา
 
 แทนที่จะพัฒนานโยบายและแผนงานทางการเมืองที่จะเอาชนะเสียงของคนชนบท กลับทำเหินห่างจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เป็นแกนหลัก ด้วยการเรียกหาพันธมิตรผู้ทรงอำนาจอื่น เช่น ทหาร หรือฝ่ายตุลาการ มาทำลายคู่ต่อสู้
 
 รูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลที่พ.ต.ท.ทักษิณสนับสนุนได้รับการเลือกตั้ง จากนั้นก็ถูกโค่นโดยกลไกของกลุ่มชนชั้นสูงในการรัฐประหารปี 2549 ต่อมา ปี 2551 พรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ประท้วงออกมาบนท้องถนน เกิดการนองเลือดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และพรรคที่พ.ต.ท.ทักษิณก็ชนะการเลือกตั้งอีก
 
 แม้ว่าการตัดสินใจในนโยบายภายในประเทศที่ไม่ได้รับความนิยมกัดกร่อนความนิยมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาสั่งการสลายการชุมนุมปี 2553 ระหว่างอยู่ในตำแหน่ง ก็ไม่อาจทำอะไรได้ในการลงมติไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์เมื่อวันพฤหัสฯ ส่วนการยึดสถานที่ราชการของกลุ่มเสื้อเหลืองก็ส่งผลตรงข้ามกับที่ตั้งใจไว้
 
 "ยิ่งลักษณ์คว้าในสิ่งที่คล้ายกับชัยชนะซึ่งพลิกจากความพ่ายแพ้ในนาทีสุดท้ายอย่างฉิวเฉียด"นายเบนจามิน ซาวักกีที่ปรึกษาอาวุโสด้านกฎหมายของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนICJกล่าวและว่าสำหรับนายสุเทพนั้นดูเหมือนจะทำล้ำเส้นไปแล้ว
 
 ด้านกลุ่มสาขาของพรรคเพื่อไทยคุมเชิงอยู่อีกด้านในสถานการณ์อลเวงนี้ กลุ่มที่ภักดีต่อพ.ต.ท.ทักษิณชุมนุมกันอยู่ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานและนัดชุมนุมใหญ่ในวันเสาร์นี้
 
 หลายคนหวังว่าความขัดแย้งของกลุ่มสีเสื้อจะยุติลงหลังเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษาฯ-พฤษภา2553 ในใจกลางกรุงเทพฯที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ100ศพและบาดเจ็บกว่า2,000คน แต่น่าเสียใจที่สัญญาณต่างๆ ดูเหมือนจะเพิ่มความตึงเครียดขึ้น แม้ว่าวันที่ 5 ธันวาคม  วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันสำคัญของประเทศไทยใกล้เข้ามาแล้ว มีบางคนเชื่อว่านายสุเทพไม่ต้องการให้การชุมนุมนี้ไปขัดช่วงเวลาดังกล่าว  ดังนั้นจึงเป็นไปได้ตามการวิเคราะห์ของซาวักกีว่า "การเพิ่มสถานการณ์ให้ตึงเครียดนั้นก็ทำด้วยความหวังว่าจะมีรัฐประหาร หรืออย่างน้อยก็มีการประกาศกฎอัยการศึกชั่วคราว"
 
 นี่เป็นการเมืองแบบรุนแรง พรรคประชาธิปัตย์อาจรักษาการใช้ชื่อตัวเองต่อไปได้ แต่การเห็นผู้สนับสนุนมากมายของพรรคเปลี่ยนสีเสื้อจากสีเหลืองเป็นสีดำนั้นเป็นงานถนัดที่แปลกจริงๆ
 
คลิกอ่านต้นฉบับได้ที่ http://world.time.com/2013/11/28/thailands-democrat-party-is-hilariously-misnamed/
Admin : Chanya
 

Admin : admin
view
:
1639

Post
:
2013-11-29 14:43:38


ร่วมแสดงความคิดเห็น