9 วันอันตราย รบ.ยิ่งลักษณ์
2013-11-28 11:28:34
ในที่สุดม็อบราชดำเนิน ที่มี "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นแม่ทัพร่วมกับอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์อีก 8 คน ที่ลาออกมาร่วมหัวจมท้ายก็ประกาศยกระดับ ลั่นกลองรบกันอีกคำรบ ระดมมวลชนกระจายทั่วกรุง
 
 
เป็นผลต่อเนื่องจากประสบความสำเร็จดึงมวลชนคนทุกชนชั้นร่วมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โค่นล้มระบอบทักษิณ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนคนล้นราชดำเนินกินพื้นที่ยาวไปถึงสนามหลวง 
 
พร้อมทั้งแตกทัพดาวกระจาย 13 เส้นทาง ไปยังหน่วยงานราชการ กองทัพ สื่อมวลชน ให้เวลาเปลี่ยนใจร่วม "อารยะขัดขืน" ล้มระบอบทักษิณ 
 
เมื่อย้อนกลับไปดูข้อเรียกร้องของม็อบราชดำเนินที่นัดชุมนุมตั้งแต่วันแรกที่สถานีสามเสนจนถึงบัดนี้ ทั้ง 3 ข้อเรียกร้อง สรุปว่า ม็อบราชดำเนินกุมชัยชนะไปแล้ว 2 ข้อ
 
1.ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 
 
2.ให้หน่วยงานเอกชน ราชการ รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ร่วมอารยะขัดขืน แม้ทุกหน่วยงานมิได้ทำตามคำเรียกร้องของแกนนำม็อบราชดำเนินทั้งหมด แต่ก็เห็นแรงกระเพื่อมจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจโดดเข้าร่วมการชุมนุมกับม็อบสุเทพ 
 
ยิ่งเห็นผลชัดเมื่อแผนอารยะขัดขืนของม็อบราชดำเนิน ที่คนในพรรคเพื่อไทยมองว่าทำให้เสียมวลชน 
 
แต่ที่สุดแล้วกลับมิได้ทำให้มวลชนคนชั้นกลางถึงระดับบน ที่เป็นองค์ประกอบหลักของม็อบราชดำเนินหายหน้าหายตาออกไป 
 
จึงเหลือเพียงข้อ 3 คือล้มระบอบทักษิณ ซึ่ง "สุเทพ" ประกาศ "ปิดเกม" ภายในเดือน พ.ย.นี้ เร็วที่สุดภายใน 3 วัน ลั่นวาจาว่า แม้นายกฯ ยุบสภา ลาออก ก็ไม่เลิก 
 
เมื่อเกม 2 ขาของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะขาที่นำมวลชนสู้บน "ท้องถนน" กำลังแผลงฤทธิ์ บั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทุกวินาที 
 
แต่อีกขาหนึ่งที่อยู่ในรัฐสภาก็ซ้ำดาบ 2 ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พุ่งเป้าทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
 
 
ทั้งภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของนายกฯหญิง ทั้งเปิดโปงกระบวนการทุจริตจำนำข้าวในรัฐบาลและเครือข่ายตระกูลชินวัตร ทั้งการทุจริตการแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย 
 
แถมดาบ 3 ที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมลงโทษพรรคเพื่อไทย ส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติถอดถอนผู้ที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามขั้นตอน พ่วงชื่อ "ปลอดประสพ สุรัสวดี" รองนายกรัฐมนตรี ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน
 
 
เป็นดาบที่บรรดาพรรคสีฟ้าหวังให้พรรคเพื่อไทยต้องหนาวไปถึงขั้วหัวใจ
 
แต่สิ่งที่ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยหวาดหวั่นไหวไปทั่วทั้งพรรคมากกว่า คือ การนำคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ใน 5 ประเด็นมาต่อยอด เอาผิดกับ 312 ส.ส.+ส.ว. ที่เป็นต้นขั้วลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ขัดรัฐธรรมนูญ
 
ประกอบด้วย 1.เอาผิดอาญากับ 312 คน กรณีปลอมแปลงเอกสาร กดบัตรแทนกัน 2.ยื่นถอดถอนสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ประธานรัฐสภา ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 3.ถอดถอนนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภาใน ม.157 เช่นเดียวกัน 4.ยื่นถอดถอน 312 ส.ส.และ ส.ว.ฐานลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และ 5.ยื่นข้อหากบฏให้ทั้ง 312 ส.ส.ฐานแถลงจุดยืนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
 
โดยเชื่อว่า ทั้ง 3 ดาบจะแผลงฤทธิ์เขย่าพรรคเพื่อไทยพร้อม ๆ กัน ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม เป้าหมายอยู่ที่ ป.ป.ช.ตัดสิน 5 สำนวนดังกล่าว จนกระทั่งเกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง 312 คนถูก ป.ป.ช.คาดโทษ กระทบถึง "ยิ่งลักษณ์" ในฐานะผู้ทูลเกล้าฯจะต้องรับผิดไปด้วย 
 
ไม่แปลกที่สุเทพพามวลชนเข้าปักหลักค้างคืนที่กระทรวงการคลัง และที่ต่างๆ เหมือนกับที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสนามบินเพื่อกดดันให้องค์กรอิสระเร่งหาทางออกให้บ้านเมือง
 
"สุเทพ" ประกาศว่า การยึดกระทรวงการคลังแบบสันติ ไม่บุกรุกอาคาร แต่เรานั่งอยู่รอบ ๆ ป้องกันไม่ให้สำนักงบประมาณโอนเงินหรือเป็นเครื่องมือตามระบอบทักษิณอีกต่อไป สัญญาณวันนี้จะส่งไปถึงพี่น้องทั่วประเทศ ยึดสถานที่ราชการทุกแห่งในประเทศไทย โดยมีข้อแม้ว่าต้องทำเหมือนกัน ไม่ใช้อาวุธ เข้าไปมือเปล่า ไม่ทำร้ายใคร เพราะเราเป็นพลเมืองดี  นี่เป็นขบวนการประชาชนที่ยึดอำนาจรัฐเผด็จการด้วยกระบวนการสันติวิธี
 
กราบเรียนว่า มวลมหาประชาชนจะกระจายไปสถานที่ราชการ ไปบอกเขาว่าเลิกทำงานให้ระบอบทักษิณได้แล้ว เราไม่เรียกร้องอะไร ไม่ต่อรองอะไรกับรัฐบาล รัฐเป็นโมฆะอยู่แล้ว เพราะไม่เคารพรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธอำนาจศาล ปฏิเสธอำนาจกฎหมายสูงสุด ไม่ชอบธรรม ไม่ต้องเจรจา ออกไปได้แล้ว เราจะสถาปนารัฐบาลประชาชน แก้ไขกติกาบ้านเมือง เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
 
"เราไม่รุนแรง เห็นผม เห็นประชาชนวันนี้หรือไม่ ไม่มีใครมีอาวุธ แม้กระทั่งกรรไกรตัดเล็บยังไม่มี"
 
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์และม็อบราชดำเนิน เป็นไปไม่ต่างจากที่พรรคเพื่อไทยประเมินไว้ จึงได้ระดมมวลชนเสื้อแดงจากกรุงเทพฯฝั่งตะวันออก ปริมณฑล และต่างจังหวัดมาปักหลักชุมนุมที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน พร้อมออกแถลงการณ์ 4 ข้อ ประกาศปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต่อต้านรัฐประหารไม่ว่าโดยทหาร หรือ ศาลเป็นการปักธงปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้ผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตที่สุดตั้งแต่ขึ้นครองบัลลังก์นายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้ามากว่า 2 ปี
 
เพราะวิกฤตครั้งนี้ เป็นวิกฤตที่อยู่ในระดับ "อันตราย" สำหรับรัฐนาวายิ่งลักษณ์ เหมือนที่เกิดกับ 2 นายกฯ ในเครือข่ายชินวัตร-สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์
 
เป็น 9 วันอันตรายก่อนถึงวันที่ 5 ธันวาคมที่พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงต้องเกาะกลุ่ม เป็นกระดองคุ้มกันนายกฯ ที่มีชื่อเล่นว่า "ปู" ให้พ้นภัยการเมือง
 
"จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำเสื้อแดง มองสถานการณ์การเมืองวันนี้ว่า การเคลื่อนไหวของม็อบราชดำเนิน เป็นสัญญาณอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย อาจถึงขั้นปฏิวัติโดยศาล หรือปฏิวัติโดยกองทัพ 
 
 
"คล้าย ๆ กับปี 2549 ที่มีการเคลื่อนไหวโดยไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการ มีความพยายามเปิดประตูให้เกิดการรัฐประหาร วันนี้กับปี"49 เหมือนกัน แค่เปลี่ยนตัวแกนนำจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล มาเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เราจึงต้องชุมนุมเพื่อให้เกิดความสมดุล ไม่ให้มีการพูดข้างเดียว คนเสื้อแดงต้องแสดงพลังให้เห็น"
 
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงจองคิวใช้สนามราชมังคลากีฬาสถานเบื้องต้น 10 วัน เพื่อใช้เป็นฐานบัญชาการการรบ คู่ขนานกับการชุมนุมของม็อบราชดำเนิน
 
เพราะแกนนำเสื้อแดงมองว่า ลำพังม็อบที่นำโดย "สุเทพ" ไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ ถ้าไม่เปิดประตูเรียกทหาร หรือศาลเข้ามาล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์
 
อย่างไรก็ตาม "จตุพร" ยืนยันว่า แม้ม็อบราชดำเนินจะยึดสถานที่ราชการเพื่อเปิดประตูให้ทหารเข้ายึดอำนาจ คนเสื้อแดงก็จะอยู่ในที่ตั้งเท่านั้น เพราะเราเป็นรัฐบาล ยังมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
 
"ถึงเขาเปิดประตูให้มีการยึดอำนาจสำเร็จ แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนเดิม คนเสื้อแดงจะไม่ยอม แม้ทำได้แต่ก็ไม่สามารถจะรักษาอำนาจเอาไว้ได้"
 
ขณะที่หลังฉากแกนนำเสื้อแดงอ่านเกมของ "สุเทพ" และพวกอย่างทะลุปรุโปร่ง คาดการณ์ว่า "สุเทพ" จะนำม็อบไปปั่นป่วนตามสถานที่ราชการต่าง ๆ บางที่บุกเข้ายึด บางที่บุกล้อม เพราะเชื่อว่า "สุเทพ" จะนำม็อบปิดเกมให้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้ 
 
โหรการเมืองของฝ่ายพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงทำนายว่า เหตุที่ม็อบราชดำเนินต้องเร่งจบเกม เพราะไม่อยากให้ถึงวันที่ 5 ธันวาคม จึงต้องหาทางลงให้ได้
 
หากเกมไม่จบ ต้องหยุดพักกลางคัน หลีกทางให้งานวันที่ 5 ธันวาคม แล้วจึงระดมคนมาใหม่ กระแสอาจจุดไม่ติดเหมือนเดิม เพราะเดือนธันวาคมเป็นช่วงเวลาที่คนชั้นกลาง รวมถึงชนชั้นนำไม่มีจิตใจร่วมชุมนุม เนื่องจากต้องการพักผ่อนช่วงปีใหม่ หากการชุมนุมเกินช่วงปีใหม่ก็จะติดเทศกาลตรุษจีน-วาเลนไทน์ ซึ่งไม่เหมาะกับการชุมนุมอย่างยิ่ง
 
"เทียบกับตอนที่คนเสื้อแดงถูกกวาดในเดือน เม.ย. 2552 เราพร้อมจะกลับมาชุมนุมในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน แต่เราไม่จัดชุมนุมในเดือนนั้น เพราะจะติดเทศกาลต่าง ๆ มากมาย เราจึงนัดชุมนุมคนเสื้อแดงอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อน ฝนไม่ตก ติดเพียงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น"
 
"ประกอบกับคนชั้นกลางและคนใต้ที่เข้ามาร่วมชุมนุมไม่เคยลำบาก ไม่อึด ไม่ทนเหมือนคนเสื้อแดง และคนกลุ่มนี้ต้องกลับไปทำงาน หากไม่ปิดเกมเร็วม็อบราชดำเนินคนจะน้อยลงเรื่อย ๆ" แกนนำเสื้อแดงอธิบายยุทธศาสตร์การชุมนุม
 
ดังนั้น สถานการณ์ในวันนี้ วอร์รูมแกนนำเสื้อแดงวิเคราะห์ว่า โอกาสที่จะเอื้อให้ฝ่ายตรงข้ามปิดเกมได้สำเร็จคือ ใช้องค์กรอิสระพิฆาตฝั่งพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการวินิจฉัยใน 5 ประเด็นของ ป.ป.ช.
 
แต่ทั้งนี้ ประเมินว่า ป.ป.ช.จะไม่เล่นตามเกม เพราะหากปิดเกมเร็วตามที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการ บ้านเมืองอาจถึงคราวพังพินาศได้
 
"พรรคเพื่อไทยจับสัญญาณความผิดปกติตั้งแต่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออกจากการเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ และจากการเป็นตุลาการแล้ว เพราะนายวสันต์ไม่อยากรับงานที่มีการตั้งธงตัดสินเป็นลบกับพรรคเพื่อไทย เพราะที่ผ่านมานายวสันต์ไม่ได้ตัดสินเป็นลบกับพรรคเพื่อไทยเลยจึงรู้สึกกดดัน" 
 
เมื่อพรรคเพื่อไทย+คนเสื้อแดง ฟันธงว่า พรรคประชาธิปัตย์-ศาลรัฐธรรมนูญ-ป.ป.ช.แบ่งหน้า-แบ่งลูกกันเล่น เพื่อล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ล้างระบอบทักษิณ
 
หากไม่กี่อึดใจหลังจากนี้ ป.ป.ช.ตัดสินเป็นลบต่อ ส.ส.และ ส.ว. 312 คน จนเกิดภาวะสุญญากาศในสภา หรืออีกนัยหนึ่งคือการรัฐประหารโดยตุลาการภิวัตน์ หรือทหารเข็นรถถังออกมาล้างกระดานอีกครั้ง 
 
คนเสื้อแดงที่วันนี้อยู่ในที่ตั้ง อาจต้องผนึกกำลังออกมาทำสงคราม ทวงสิ่งที่พวกเขาสูญเสียไป
 
บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามด้วยใจระทึก
 
ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ
Admin : Chanya

Admin : admin
view
:
1663

Post
:
2013-11-28 11:28:34


ร่วมแสดงความคิดเห็น