DSI จับหมอเถื่อนเสริมความงาม
2013-11-14 10:36:23
 
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 16.30 น.วันที่ 13 พฤศจิกายน นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น.พ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ น.พ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา และ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ร่วมแถลงผลการจับกุมสถานพยาบาลและแพทย์เถื่อน โดยกระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สนธิกำลังเจ้าหน้าที่นำหมายค้นศาลอาญา เข้าตรวจค้นคลีนิก ชื่อ "Pulchala Clinic" เลขที่ 18/97 หมู่บ้านเทอเรซ ซอยรามอินทรา 65 ถนนรามอินทรา แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ และพบ น.ส.ณัฐชานันท์ พิทักษ์ชัยกร หรือ แนน อายุ 22 ปี ได้เช่าสถานที่แล้วเปิดคลินิกเถื่อน จึงควบคุมตัวมาสอบสวน และแจ้งข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมถึงข้อหาฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
 
 
นายธาริต กล่าวว่า จากการสืบสวนพบว่า น.ส.ณัฐชานันท์ ได้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์อ้างว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงามทั้งที่ไม่ได้เป็นแพทย์จริงและมีการใช้ใบปริญญาบัตรและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพปลอมเพื่อสร้างความเชื่อถือ โดยน.ส.ณัฐชานันท์ เป็นเพียงนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการลักลอบเปิดคลินิกเถื่อนนั้นทางกระทรวงยุติธรรม โดยดีเอสไอ และกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงในการปราบปรามคลินิกและแพทย์เถื่อน โดยประชาชนสามารถแจ้งเหตุคลินิกเถื่อนหรือแพทย์ที่ต้องสงสัยว่าใช้ใบอนุญาตปลอม ได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ โทร. 090-1231230 หรือตรวจสอบรายชื่อแพทย์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา ที่มีฐานข้อมูลแพทย์อยู่เกือบ 5 หมื่นรายชื่อ
 
 
ด้าน น.พ.ประดิษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขมีสถานพยาบาลภาครัฐอยู่ในการควบคุม 10,695 แห่ง และภาคเอกชนอีกเกือบ 18,000 แห่ง แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทหรือสถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพจริงมาแอบอ้างตัวหลอกลวงให้บริการ สำหรับสถิติระหว่างเดือน ต.ค. 2555-กันยายน 2556 พบว่ามีการร้องเรียนคลินิกเถื่อนแล้ว 30 แห่ง โดยกรณีของคลินิกเถื่อนหากฝ่าฝืนจะมีโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถานพยาบาล มาตรา 16 และมาตรา 24 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีหมอเถื่อน ถือเป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม มาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการปลอมแปลงเอกสาร ใบปริญญา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา เข้าข่ายต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
น.พ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่าแม้จะเปิดสถานประกอบการถูกต้องแต่หากมีการจ้างแพทย์ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพก็ถือผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบด้วย ดังนั้น ก่อนเข้ารับบริการด้านการแพทย์ควรตรวจสอบประวัติผู้ทำการรักษาอย่างรอบคอบ โดยสามารถตรวจสอบสถานประกอบการและแพทย์ผู้ได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข www.hss.moph.go.th หรือเว็บไชต์ขอวแพทยสภา www.tmc.or.th
 
แพทย์รายหนึ่งที่ถูกอ้างชื่อ กล่าวว่า เคยให้ข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับการสมัครงานแพทย์กับผู้ต้องหาซึ่งเปิดเว็บไซต์รับสมัครแพทย์ตนจึงติดต่อและมอบเอกสารประกอบการสมัครงานไปได้ ต่อมามีเพื่อนติดต่อว่าพบว่าชื่อของตนถูกนำไปโพสต์ประกาศให้บริการด้านความงาม ดังนั้นขอเตือนถึงผู้ที่เข้ารับบริการด้านความงามควรตรวจสอบใบประกอบวิชาชีพให้ชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ทราบว่ามีแพทย์เถื่อนจำนวนมากที่อาศัยแอบอ้างชื่อผู้อื่นไปให้การรักษาที่ผิดกฎหมาย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะแถลงข่าวเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหา คือ น.ส.ณัฐชานันท์ ลงมาร่วมแถลงได้เนื่องจากเกิดอาการช็อคและเครียดจัด โดยต้องจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจากการสอบปากคำทราบว่าผู้ต้องหารายนี้มีปัญหาครอบครัว ต้องหาเงินเรียนเอง จึงไปศึกษาวิธีการฉีดน้ำยาต่างๆให้กับเหยื่อทางเว็บไซต์ เพราะเห็นว่ารายได้ดีครั้งละประมาณ 10,000 บาท และทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 รายจนกระทั่งมาถูกจับในครั้งนี้
 
ขอบคุณภาพจาก คลุกวงข่าว
Admin : Chanya

Admin : admin
view
:
1957

Post
:
2013-11-14 10:36:23


ร่วมแสดงความคิดเห็น