หอการค้าไทย-ภาคเอกชน ไม่ตอบรับอารยะขัดขืน พร้อมวอนยุติการชุมนุม
2013-11-13 11:08:43
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี แกนนำการชุมนุมราชดำเนิน กล่าวภายหลังประกาศลาออกจากสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเผยมติตามศาลประชาชนว่า จะมีการยกระดับต่อสู้ โดยเชิญชวนพี่น้องประชาชนกระทำอารยะขัดขืนอย่างเข้มแข็งทั่วประเทศ โดยขอให้ทุกคน ทุกบริษัท ทุกหน่วยงานราชการ รวมถึงสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยทุกแห่ง หยุดงานมารวมตัวกันในวันที่ 13-15 พฤศจิกายน รวมทั้งขอให้หน่วยงานเอกชนชะลอการชำระภาษีกลางปีนั้น
 
 
            ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนห่วงสถานการณ์ชุมนุม โดยเห็นว่า หากการชุมนุมยืดเยื้อ อาจกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศและตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ทั้งปีให้หดตัวลงอีก เนื่องจากขณะนี้ไทยเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวผลักดันรายได้เข้าประเทศในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งจะช่วยทดแทนตัวเลขการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวได้
 
นายอิสระ กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ขอแสดงจุดยืน 3 ประเด็น คือ
 
             1. ยึดมั่นต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่น และเห็นว่าการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นได้สิ้นสุดลงแล้ว จากที่พรรคร่วมรัฐบาลลงนามในสัตยาบันไม่นำเรื่องนี้กลับมาอีก
 
             2. ขอให้ทุกฝ่ายลดการเผชิญหน้าและท้าทายซึ่งกันและกัน ไม่ใช้ความรุนแรง ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความเชื่อมั่น ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศในระยะยาว
 
             3. ขอให้ทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ความสันติสุขกลับสู่ประเทศอีกครั้ง
 
            ส่วนที่ผู้ชุมนุมประกาศขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายหยุดงานวันที่ 13-15 พฤศจิกายน นายอิสระ กล่าวว่า ภาคเอกชนไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ และไม่ได้ประกาศให้พนักงานของบริษัทที่เป็นสมาชิกของหอการค้าไทยหยุดงาน ส่วนข้อเสนอให้หยุดจ่ายภาษีนั้น ภาคเอกชนจะไม่ปฏิบัติตามแน่นอน เพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
 
            ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนายการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากการชุมนุมยืดเยื้อถึงไตรมาสแรก ปี 2557 จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ สูญเสียรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 3-5 หมื่นล้านบาท ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้เติบโตแค่ 3.3-3.5% และปีหน้า สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว 1.1-1.5 แสนล้านบาท หรือเกือบ 2 แสนล้านบาท ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโตแค่ 4-4.8 % จากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 5-5.1% แต่หากการชุมนุมเกิดความรุนแรงหรือการปะทะกัน เศรษฐกิจในปีนี้จะได้รับผลกระทบมากสุด หรือ เติบโตเพียง 3-3.2 %
 
            ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น เช่น ยุบสภา ต้องดูว่าจะเกิดขึ้นในช่วงใด เพราะหากมีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน จะมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้ารัฐบาลใหม่เปลี่ยนพรรคการเมือง อาจกระทบต่อโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ซึ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

Admin : admin
view
:
893

Post
:
2013-11-13 11:08:43


ร่วมแสดงความคิดเห็น