ประวัติ'เขาพระวิหาร'ชนวนแห่งความขัดแย้งไม่สิ้นสุด'ไทย-กัมพูชา'
2013-11-11 10:15:51
 
ปราสาทพระวิหาร อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างบ้าน "สรายจร็อม" อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ของประเทศกัมพูชา และบ้าน "ภูมิซรอล" ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้ ๆ กับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 83 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีเนื้อที่ 81,250 ไร่ และได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 14 ก ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2541
 
 
เขาพระวิหาร หรือ "ปราสาทพระวิหาร" (Prasat Preah Vihear) กัมพูชาเรียกว่า "เปรี๊ยะ วิเฮียร์" เป็นปราสาทหินในเทือกเขาพนมดงรัก สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนพื้นเมืองสมัยก่อน ในกษัตริย์ชัยวรมันที่ 2 ได้กำหนดเขตบริเวณนี้และเรียกชื่อว่า "ภวาลัย" ภายหลังปรากฏชื่อในจารึกภาษาสันสกฤตว่า "ศรีศิขรีศวร" หมายความว่า "ผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาอันประเสริฐ" ตั้งตามแนวเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา
 
 
จากหลักฐานต่างๆ คาดว่าสร้างในปี พ.ศ.1432-1443 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่สักการะตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ โดยสมมติให้เปรียบเสมือน "เขาพระสุเมรุ" (ศูนย์กลางของจักรวาล) เหตุผลในสร้างเพื่อการรวบรวมอำนาจและความเชื่อของคนในละแวกนั้นเข้าด้วยกัน  พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 โปรดให้สร้างเขาพระวิหารขึ้น เพื่อเป็นจุดยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมจิตใจของ ชาวบ้านเพื่อการปกครองที่ง่ายขึ้น ซึ่งกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร ปราสาทพระวิหาร จึงเปรียบเสมือน เทพสถิตบนขุนเขา หรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก มีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ ส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาว และบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตร จากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตร จากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล) "ปราสาท" สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง ซึ่งขะแมร์กัมพูชาก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหาร ติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12
 
 
ส่วนสำคัญของปราสาท
 
1. บันไดดินด้านหน้าของปราสาท ซึ่งบันไดดินด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา บางชั้นสกัดหินลงไปในภูเขา มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร มีจำนวน 162 ขั้น สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์ทวารบาล (ทะ-วา-ระ-บาน) เพื่อเฝ้าดูแลรักษาเส้นทาง
 
 
 
2. สะพานนาคราช หรือ ลานนาคราช อยู่ทางทิศใต้ของบันไดหินด้านหน้า ปูด้วยแผ่นหินเรียบ มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร สองข้างสะพานนาคราชสร้างเป็นฐานเตี้ยๆ บนฐานมีนาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว แผ่พังพานหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำตัวอยู่บนฐานทั้งสอง ทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชชูขึ้นเล็กน้อย นาคราชทั้งสองตัวเป็นนาคราชที่ยังไม่มีรัศมีเข้ามา ประกอบมีลักษณะคล้าย ๆ งูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอมแบบปาปวน
 
3. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 5 จะมีภาพวาดโดยปามังติเอร์อยู่ สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสูง 1.8 เมตร บันไดหน้าประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง เสาโคปุระสูง 3.5 เมตร เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ แต่ส่วนหลังคากระเบื้องนั้นหายไปหมดแล้ว บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 5 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 5 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน ยาว 340 เมตรถึงไหล่เขา
 
4. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 4 (ปราสาท หลังที่ 2) จะภาพของการกวนเกษียรสมุทร ณ เขาพระวิหาร ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทเขาพระวิหาร" ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช ซึ่งทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 5 มาเป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียงตั้งอยู่ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก โคปุระชั้นที่ 4 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ยาว 39 เมตรจากตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 29.5 เมตร จากเหนือไปใต้ เป็นศิลปะสมัยหลังโคปุระ ชั้นที่ 5 คือ แคลง/บาปวน ด้านนอกตั้งรูปสิงห์ หน้าบันเป็นภาพของการกวนเกษียรสมุทร
 
5. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 3 (ปราสาทหลังที่ 1) เป็นโคปุระหลังที่ใหญ่โตมโหฬารที่ยังสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะการสร้างคล้ายกับ โคปุระ ชั้นที่ 1 และ 2 แต่ผิดตรงที่มีฝาผนังกั้นล้อมรอบความใหญ่โตมากกว่า และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า บันไดกว้าง 3.6 เมตร สูง 6 เมตร สองข้างมีฐานตั้งรูปสิงห์นั่ง 5 กระพัก มุขเหนือหน้าบันเป็นรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑ และจากโคปุระชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นไปสู่ถนนที่ยาว 34 เมตร มีเสานางเรียงปักรายข้างถนน ข้างละ 9 ต้น ถัดจากเสานางเรียงไปเป็นสะพานนาค 7 เศียร
 
6. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 2 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียวอยู่บนไหล่เขาทางทิศเหนือของโคปุระชั้นที่ 2 บริเวณพื้นราบของเส้นทางดำเนินและสองข้างทางขึ้นลงของบันได จะพบรอยสกัดลงในพื้นศิลามีลักษณะเป็นหลุมกลมๆ สำหรับใส่เสาเพื่อทำเป็นปะรำพิธี โดยมีประธานในพิธีนั่งอยู่ในปะรำพิธีเพื่อดูการร่ายรำบนเส้นทางดำเนิน กรอบประตูห้องมีจารึกอักษรขอมระบุปีศักราชตกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตู และมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา ที่สนามด้านหน้ามีภาพจำหลักตกหล่นอยู่หลายชิ้น เช่น รูปกษัตริย์กำลังหลั่งน้ำทักษิโณทกแก่พราหมณ์
 
7. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 1 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม-ย่อมุม บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 1 ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าการที่จะเข้าเฝ้าเทพนั้น จะไปด้วยอาการเคารพนบนอบในลักษณะหมอบคลานเข้าไป ทางทิศตะวันออกมีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอนเป็นเส้นทางขึ้นลง ไปสู่ประเทศกัมพูชา เรียกว่า "ช่องบันไดหัก"
 
8. สระสรง จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินห่างออกไป 12.40 เมตร จะพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16.8 เมตร ยาว 37.80 เมตร กรุด้วยท่อนหินเป็นชั้น ๆ มีลักษณะเป็นขั้นบันได เรียกว่าสระสรงกล่าวกันว่าใช้สำหรับเป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะกระทำพิธีทางศาสนา
 
9. เป้ยตาดี เป้ยเป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผาหรือโพงผา ตามคำบอกเล่าว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ซึ่งบริเวณตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร ถ้าวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร ตรงชะง่อนผาเป้ยตาดี จะมีรอยสักพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่า 118-สรรพสิทธิ แต่ก่อนมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่บริเวณผาเป้ยตาดี ในปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานไตรรงค์  
 
จุดเริ่มต้นที่เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลโลกเริ่มต้นมาจาก ที่ฝรั่งเศสเข้าครอบครองอินโดจีนได้ทำสนธิสัญญา พ.ศ. 2447 ในการปักปันเขตแดนกับราชอาณาจักรสยาม ซึ่งตามมาตรา 1 ของสนธิสัญญา ระบุให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ซึ่งมีผลให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนไทย มา โดยตลอด และเมื่อปี 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเป็นครั้งที่ 2 ได้ทรงลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศส  ยกดินแดน "เสียมเรียบ" ที่ตั้งของ นครวัด-นครธม กับพระตะบอง และศรีโสภณ ให้กับทางฝรั่งเศส เพื่อขอจังหวัดตราด และอ.ด่านซ้าย จังหวัดเลย กลับคืนมา หลังจากได้จังหวัดจันทบุรี คืนมาเมื่อปี 2447
 
 
ต่อมาใน พ.ศ. 2451 ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ฝ่ายเดียว ส่งมอบให้สยาม 50 ชุด แต่ละชุดมี 11 แผ่น และมีแผ่นหนึ่งคือ "แผ่นดงรัก" ที่ครอบคลุมพื้นที่ปราสาทพระวิหาร และไม่ได้ใช้แนวสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ทำให้ปราสาทพระวิหารในแผนที่อยู่ในดินแดนของกัมพูชา โดยที่ รัฐบาลสยามในขณะนั้น ไม่ได้รับรองหรือทักท้วงความถูกต้องของแผนที่ดังกล่าว ซึ่งก็เหมือนว่า ไทยยอมรับปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ในอธิปไตรของกัมพูชานับตั้งแต่นั้นมา
 
ผ่านมาปี พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อประเทศเยอรมนี ทำให้ทางการทหารด้อยลง จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องดินแดนที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนจากฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการปฏิเสธและมีการเคลื่อนไหวทางทหาร ทำให้เกิดสงครามพิพาทอินโดจีน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ขึ้นในปี พ.ศ. 2484 ประเทศไทย ได้รับชัยชนะในการรบตลอด 22 วัน กระทั่งประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นมหาอำนาจในขณะนั้นเสนอตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ตกลงคืนจังหวัดไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบอง ให้ไทยเป็นไป ตามอนุสัญญาโตเกียวทำให้ปราสาทพระวิหาร กลับมาอยู่ในดินแดนไทยอย่างสมบูรณ์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา พอมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งญี่ปุ่นก็เป็นฝ่ายแพ้สงคราม ประเทศไทย ต้องรักษาสถานะตัวเองไม่ให้เป็นฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น และต้องการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จึงตกลงคืนดินแดน 4 จังหวัด ให้ฝรั่งเศส ทำให้ปราสาทพระวิหารกลับไปอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา    ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 ฝรั่งเศสแพ้สงครามต่อเวียดนามที่เดียนเบียนฟู ต้องถอนทหารออกจากอินโดจีน ประเทศกัมพูชา ได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาเจนีวา และไทยได้ส่งทหารเข้าไปรักษาการบริเวณปราสาทพระวิหารอีกครั้ง
 
จนเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2501 เจ้านโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชาสละราชสมบัติลงเล่นการเมือง ได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศเรียกร้องให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร และไทยไม่ยอมรับ เจ้านโรดม ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย ทำให้เกิดการเรียกร้อง และการประท้วงในกัมพูชา เพื่อให้ไทยคืนปราสาทวิหารให้กัมพูชา เช่นเดียวกับไทยที่มีการเคลื่อนไหว โจมตีกัมพูชาเช่นเดียวกัน จนวันที่ 6 ตุลาคม 2502 รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา ภายใต้การหนุนหลังของฝรั่งเศส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือศาลโลก ขอให้ไทยถอนกองกำลังทหารออกจากเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่า อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารคืน ยื่นฟ้องทั้งหมด 73 ครั้ง ให้ไทยคืนปราสาทพระวิหาร แต่ฝ่ายไทยต่อสู้คดี
 
 
โดยมีฝ่ายไทยที่สู้คดีประกอบด้วย หม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูร เอกอัครราชทูตประจำประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นตัวแทนทนาย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เนติบัณฑิต, อังรี โรแลง (Henry Rolin) ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์, เซอร์ แฟรงก์ ซอสคีส (Sir Frank Soskice)  อดีตแอททอร์นี เยเนราล ในคณะรัฐบาลอังกฤษ , เจมส์ เนวินส์ ไฮด์ (James Nevins Hyde) เนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก และทนายความประจำศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา, มาร์เซล สลูสนี (Marcel Slusny) อาจารย์มหาวิทยาลัยบรัสเซลส์ และทนายความประจำศาลอุทธรณ์ กรุงบรัสเซลส์, เจ.จี. เลอ เคนส์ (J. G. Le Quesne) เนติ บัณฑิต และที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชียวชาญและที่ปรึกษาด้านกฎหมายไปต่สู้คดีโดยรัฐบาล ระดมเงินจากประชาชนที่รักชาติคนละ 1 บาทเพื่อรวบรวมไปสู้คดี
 
โดยในวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง โดยบริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ ผู้พิพากษามีทั้งหมด 12 นาย จาก 12 ประเทศ คะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ตัดสินว่าปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และ คะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ตัดสินว่า ไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลา ส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผา โบราณและปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา
 
 
ซึ่งหลังจากนั้นไทยเอง ก็ไม่ยอมรับในคำตัดสินนี้ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีไทย ในขณะนั้นได้ออกแถลงการณ์ถึงประชาชนผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงการไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลโลกแต่ก็ต้องปฏิบัติตามถอนกำลังทหารและกำลังตำรวจออกจากพื้นที่เนื่องจากยังเป็นสมาชิกของสหประชาชาติจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามและหลังจากนั้น ทหาร ตำรวจ จำเป็นต้องถอนกำลังลงมาโดยถอนธงของไทยทั้งต้น ลงมาโดยไม่มีการลดธง ลงแต่อย่างใด และเกณฑ์ชาวบ้านในอำเภอภูมิซรอล ไปขึงลวดหนามรอบปราสาทเขาพระวิหาร และนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสื่อถึงนาย อู ถั่น รักษาราชการเลขาธิการสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก อ้างถึง คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประกาศจุดยืนและท่าทีของไทยว่า ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านคำพิพากษา ซึ่งขัดต่อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส แต่ก็จะปฏิบัติตามพันธกรณีในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกในสหประชาชาติ และขอตั้งข้อสงวนเกี่ยวกับสิทธิที่มีอยู่ และพึงได้ที่จะครอบครองปราสาทพระวิหารในอนาคต ตามกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเรื่องปราสาทพระวิหารก็เงียบหายไปนานหลายสิบปี
 
 
ระยะหลังในรอบ 10 ปี กัมพูชา ก็ได้รื้อรั้วลวดหนามออกมาสร้างบ้านและที่พัก ร้านขายของในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กัมพูชากำลังขยายอาณาเขต
 
จนมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ 8 มีนาคม 2548 กัมพูชาได้ทำเรื่องยื่นไปที่องค์การยูเนสโกเพื่อขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเนสโก ขอให้กัมพูชายื่นเอกสารใหม่เกี่ยวกับเขตกันชนของ ปราสาท และมีคำแนะนำให้ร่วมมือกับฝ่ายไทยด้วย กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารใหม่ในปี 2550 โดยมีไทยยื่นบันทึกช่วยจำต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาและเสนอขึ้นทะเบียนร่วม (transboundary property) แต่คณะกรรมการมรดกโลกสากลมีมติเลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป โดยให้ไทย-กัมพูชา ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
 
ซึ่งทำให้ไทยขณะนั้นมี นายนพดล ปัทมะ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาให้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลก แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไทยจะให้การสนับสนุนเต็มที่ จนทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจากหลายกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลจนไปร้องศาลปกครอง ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้กระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรียุติการดำเนินการตามมติ ครม. ที่รับรองการออกแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียน ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปจนกว่าคดีจะเป็นที่สิ้นสุด หรือ ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 
จนวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนตามคำขอของกัมพูชาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะเพียงตัวปราสาทเท่านั้น ทำให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับ นายนพดล ออกมาต่อต้านจนนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
 
ซึ่งเกิดการปะทะครั้งแรกที่ "ภูมะเขือ" เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์  2554 ใกล้กับปราสาทเขาพระวิหาร ทหารไทยและทหารกัมพูชา ระดมยิงใส่กันจนมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต โดยต่างฝ่ายต่างออกมาโต้กันว่า ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้เริ่มต้นลงมือยิงใส่ก่อน ซึ่งก็มีการเจรจากันหลายต่อหลายครั้ง ชาวบ้านใน อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบไปด้วย กัมพูชาได้ยื่นจดหมายถึงสหประชาชาติ ว่า ทหารไทย ได้ละเมิดข้อตกลงสันติภาพปารีส พ.ศ. 2534 กฎบัตรสหประชาชาติ และคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 ขอให้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวโดยขอให้ไทยถอนทหารออกจากบริเวณเขาพระวิหารและบริเวณโดยรอบโดยไม่มีเงื่อนไข
 
หลังจากนั้นก็เกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงวัน ที่ 28 เมษายน 2554 กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชายื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกให้ ตีความคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยและกัมพูชาแย่ลงเรื่อยๆ
 
ในขณะนั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งทีมทนายขึ้นมาเพื่อต่อสู้ในศาลโลกพร้อมยื่น ข้อสังเกตต่อศาลโลกไม่มีอำนาจและไม่สามารถรับคดีไว้พิจารณาได้ หรือ ถ้ามีอำนาจก็ไม่สามารถตีความในคำพิพากษาเดิมได้ และขอให้ศาลตัดสินว่า คำพิพากษาเดิม ไม่มีการตัดสินเรื่องเขตแดน
 
วันที่ 15-19 เม.ย.2556 ที่ผ่านมา ศาลโลกได้นัดทั้งสองประเทศแถลงด้วยวาจา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะผู้แทนไทยในการดำเนินคดีเขาพระวิหารและคณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศนำทีมกฎหมายของไทยไปแถลงด้วยวาจา ซึ่งในการแถลงด้วยวาจาครั้งนี้ พยานหลักฐานของไทยค่อนข้างมีน้ำหนักกว่ากัมพูชา
 
ทำให้คนไทยรู้จัก น.ส.อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนีย ศ.แปลเลต์ ทนายความชาวโรมาเนีย ของฝ่ายไทย ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ ซึ่งทนายความสาวคนนี้ เป็นผู้เปิดแผนที่ ตอกหน้าฝ่ายกฎหมายกัมพูชา โดยเธอ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของกัมพูชา ในเรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนในแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปมา และแผนที่ดังกล่าวขัดต่อหลักภูมิศาสตร์ ไม่สามารถถ่ายทอดลงแผนที่ในโลกปัจจุบันได้ และแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชาอ้างถึงนั้น ไม่ได้มีแค่ฉบับเดียว แต่ทีมฝ่ายไทย พบถึง 6 ฉบับ ทำให้แผนที่นี้ขาดความน่าเชื่อถือ และยังขาดความแม่นยำทางเทคนิคด้วยได้ใจคนไทยไปเต็ม ๆ

Admin : admin
view
:
3360

Post
:
2013-11-11 10:15:51


ร่วมแสดงความคิดเห็น