การเมืองไทย ก่อนที่ทักษิณจะกลับบ้าน
2013-11-06 10:06:08
บทความ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
ผมเขียนงานชิ้นนี้ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองไทยที่น่าสนใจยิ่ง หลังจากการที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านวาระสามของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ "สุดซอย" และเกิดการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า "ม็อบนกหวีด" ที่หน้า/ข้างพรรคประชาธิปัตย์
สิ่งที่อยากจะขอนำมาแลกเปลี่ยนในวันนี้ก็คือสภาวะสามมิติของการเมืองไทย ที่บางครั้งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันใหม่หรือเก่า หรือบางทีประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่ามันใหม่หรือเก่าเท่ากับว่า มันเกิดขึ้นมาในเวลานี้ได้อย่างไร
มิติที่หนึ่ง คือ มิติที่เราก็คุ้นชินไปในแบบหนึ่ง นั่นก็คือ มิติเรื่องข่าวลือต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ทักษิณนั้นเคลียร์กับอำนาจที่มองไม่เห็นต่างๆ ได้แล้ว หรือว่าทักษิณอาจจะถูกหลอกอีกก็เป็นได้
เรื่องแบบนี้บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ถ้าจะใช้ศัพท์ยอดฮิตในช่วงที่แล้ว เราก็อาจจะสามารถเรียกการเมืองแบบนี้ว่า "การเมืองแบบอำมาตย์" หรือ "การเมืองระบอบเก่า" หรือ "การเมืองของชนชั้นนำ" บ้างก็พยายามที่จะหาหนทางในการอธิบายเรื่องนี้ผ่านหลักฐานและทฤษฎีเช่นเรื่องของความมั่งคั่ง ความสัมพันธ์ และเครือข่าย
เอาเป็นว่าในการศึกษาทางการเมืองนั้นเราก็คงไม่สามารถปฏิเสธเรื่องนี้ได้ แต่เราก็คงจะต้องพัฒนาเครื่องมือและชุดคำอธิบายที่แหลมคมและชัดเจนยิ่งขึ้นให้ได้ นอกเหนือจากสิ่งที่เราพยายามเรียกว่า "หลักฐาน" เพราะบางครั้งสิ่งที่เราเรียกว่า "หลักฐาน" ก็อาจจะอยู่ในสภาพเพียงแค่ "ข้อมูลในระดับปรากฏการณ์" ที่ยังต้องรอพิสูจน์ให้ได้อยู่อีกจำนวนมาก
การเมืองแบบอำมาตย์นี้เป็นการเมืองที่ยังเกี่ยวข้องกับรูปธรรมที่สำคัญก็คือ การทำรัฐประหาร และการร่างรัฐธรรมนูญภายหลังจากนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของการพยายามบริหารการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของกลุ่มอำนาจของตัวเองไว้มากที่สุด แต่บางครั้งเราเองก็จะต้องเข้าใจว่า เรื่องราวของการใช้อำนาจนั้นมันไม่ได้อยู่ในลักษณะของการแบ่งชัดว่าใครมี ใครไม่มี แต่เป็นเรื่องของท่าที และความสัมพันธ์ว่าใครทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน หรืออะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ควรไปล้ำเส้น
เหนือสิ่งอื่นใด การเมืองแบบอำมาตย์นั้นจึงไม่ได้หมายถึงว่าอำมาตย์เท่านั้นที่จะอยู่ในอำนาจ แต่ความสัมพันธ์ที่มีในการเมืองอำมาตย์นั้นเป็นการเมืองที่ซับซ้อน และบางครั้งเราก็ยังขาดหลักฐานจำนวนมากที่จะอธิบายอย่างเป็นระบบมากกว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือความน่าจะเป็นในการอธิบายต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้หมายถึงว่าเพราะเรานั้นไร้ซึ่งสติปัญญา แต่ก็อาจจะเป็นเพราะว่าโครงสร้างทางกฎหมายบางประการก็ยังกดทับไม่ให้การค้นหาความจริงนั้นเกิดขึ้นได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่เราอธิบายอะไรมากไปกว่าข่าวลือ หรือการพยายามจับแพะชนแกะไปเรื่อยๆ นั้นมันก็สร้างพลังในการต่อรองกับการเมืองแบบนี้ได้เช่นกันถ้าผู้ที่พยายามที่จะค้นหาและเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นมีความเชี่ยวชาญชำนาญในการ "ไต่เส้น" เรื่องนี้ ทั้งในแง่การ "อ้างอิง" และการ "วิพากษ์วิจารณ์"
มิติที่สอง เรากำลังพูดถึงการเมืองที่เรียกว่าการเมืองแบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง และเชื่อมโยงกับมิติที่สาม นั่นคือ การเมืองแบบมวลชน ซึ่งในแง่นี้ผมอาจจะไม่สามารถพูดได้ไกลขนาดที่เชื่อว่าการเมืองแบบมวลชนนั้นจะต้องมีผลในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย
(ในทางกลับกัน การเมืองแบบอำมาตย์ก็เชื่อมโยงกับมวลชนมาก่อน หรือแม้แต่วันนี้ก็ยังเชื่อมโยงกับมวลชนเช่นกัน แต่ผมจะไม่ขออธิบายในรายละเอียดในครั้งนี้ เพราะเป็นประเด็นรองไปจากประเด็นหลักที่ต้องการจะพูด)
สิ่งที่เราเผชิญหน้าอยู่ก็คือ พรรคหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากการเมืองมวลชน และมีฐานการเมืองแบบการเมืองนโยบายกำลังถูกกล่าวหาว่า "ละทิ้ง" มวลชน (บางกลุ่ม) ของพรรค
ในขณะอีกพรรคหนึ่ง ซึ่งเคยขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ กำลังหันไปก่อร่างสร้างการเมืองมวลชนของตัวเอง ทั้งในแง่ของการนำการชุมนุม รวมไปถึงการใช้ช่องทางการสื่อสารทางสถานีดาวเทียม
สําหรับผมแล้ว เมื่อมองเห็นปรากฏการณ์ของทั้งสองพรรคและของความสัมพันธ์ของพรรคทั้งสองกับมวลชนของตัวเองเช่นนี้ ผมก็ไม่สามารถจะฟันธงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าหรือเป็นเรื่องใหม่กันแน่ แต่ถ้าจะให้มองในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าจะอย่างไรก็ตาม ทั้งสองพรรคใหญ่ก็ยังให้ความสนใจกับการขับเคลื่อนการเมืองผ่านรัฐสภาเป็นลำดับแรก
เพราะเกมส์หลักนั้นยังอยู่ในรัฐสภา โดยเฉพาะในกรณีของพรรคฝ่ายค้านนั้น เราอาจจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของพรรคที่อ้างว่าเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา แต่ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง (หากแต่ก็สามารถเป็นรัฐบาลได้ผ่านเกมส์ในรัฐสภาอยู่ดี แม้ว่าจะค้านกับสายตาประชาชนจำนวนมาก และนำไปสู่การตั้งคำถามกับความเชื่อมโยงระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับการเมืองอำมาตย์)
แต่ในอีกด้านหนึ่ง การที่พรรคฝ่ายค้านนั้น เคยเล่นมาหลายบทบาท ตั้งแต่การไม่ลงรับเลือกตั้งในช่วงปลายของทักษิณ หรือ แม้กระทั่งการเข้าร่วมการชุมนุมข้างรัฐสภาในสมัยของการต่อสู้กับรัฐบาลของ พลเอก สุจินดา คราประยูร นั้น เราก็จะพบว่า ตัวแบบของการต่อสู้ของพรรคฝ่ายค้านในวันนี้ก็อาจจะไม่ได้ใหม่ซะทั้งหมด แต่จะว่าเก่าไปซะทีเดียวก็ไม่น่าจะได้
อย่างน้อยฝ่ายค้านนั้นก็ยังสวมบทบาทของการทำงานในรัฐสภาอยู่ดี และยังมองไปที่เรื่องของการพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการตีความเนื้อหาของการขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ เมื่อกระบวนการในทางรัฐสภา (วุฒิสภา) ของพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจบลง
สำหรับพรรครัฐบาลนั้น ผมเองกลับไม่ได้รู้สึกว่าปัญหาใหญ่จะอยู่ที่เรื่องของความขัดแย้งแตกแยกระหว่างมวลชนของพรรค หรือคนเสื้อแดงกับพรรคการเมือง หรือดังที่ถูกเย้ยหยันจากอีกสีเสื้อหนึ่งว่าทั้งหมดเป็นการถูกหลอก หรือเป็นเรื่องของการหมดหน้าที่ของ "เรือ" ตามที่เคยมีการแถลงของทักษิณในครั้งหนึ่งของการชุมนุม
แต่ผมกลับรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของระบอบทักษิณหลังรัฐประหารนั้น โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์นั้นกลับมีความซับซ้อนยิ่ง แต่คนนอกมักจะมองง่ายๆ ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับมวลชน
แต่ถ้ามองให้ดี เราอาจจะเห็นมวลชนที่มีเฉดสีหลายเฉด ไม่นับแนวร่วมของมวลชนในหลายๆ กลุ่ม
แต่ในพรรคเองก็ต้องตั้งคำถามให้ดี ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณ กลุ่มก๊วนนักการเมืองแต่ละภูมิภาค (รวมทั้งนอกพรรคที่เป็นพันธมิตร) กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มนักวิชาการใหม่และนักบริหารที่ร่วมขับเคลื่อนรัฐบาล ตัวยิ่งลักษณ์ และทีมงานแวดล้อมของยิ่งลักษณ์ที่อาจไม่ได้มีอำนาจหลักอยู่ในพรรคเสียทีเดียว
ในแง่นี้เราอาจจะต้องถามคำถามใหม่ว่าคุณยิ่งลักษณ์นั้นลอยตัว หรือตีกรรเชียง หรือเราไม่เข้าใจถึงตำแหน่งแห่งที่ของยิ่งลักษณ์ที่ไม่ใช่ทั้งการลอยตัว และการตีกรรเชียง
ขณะเดียวกัน ก็จะละเลยการกลับมาของทั้งบ้าน 111 และ 109 ในปลายปีนี้ไม่ได้
ดังนั้น เรื่องของการพิจารณาถึงความแตกแยกระหว่างมวลชนกับพรรครัฐบาลนั้นไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ เท่ากับว่า ในท้ายที่สุดเมื่อการลงหลักปักฐานของการเมืองแบบพรรคการเมืองแบบคุณทักษิณที่มีส่วนผสมหลายด้าน รวมทั้งมีตัวแสดงที่มากหน้าหลายตานี้ จะสามารถถูกจัดระเบียบและความสัมพันธ์แต่ละส่วนเข้าด้วยกันอย่างไร
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่ไม่น้อยไปกว่าการตื่นเต้นกับการค้นพบว่าชนบทเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน หรือเกิดชนชั้นทางสังคมมากน้อยแค่ไหน เพราะนั่นเป็นการวิเคราะห์แต่ในระดับสังคมวิทยาทางอำนาจ หรือประวัติศาสตร์ในภาพกว้าง
แต่เรื่องที่กำลังจะกำหนดความเป็นตายทางการเมืองที่สำคัญคือการจัดความสัมพันธ์ครั้งใหญ่ (หากเราเชื่อว่า) คุณทักษิณจะกลับมา หรือแม้ว่าจะไม่รู้ว่าคุณทักษิณจะกลับมาหรือไม่ หรือเร็วช้าแค่ไหน แต่เครือข่ายทางอำนาจของคุณทักษิณที่ดำรงอยู่ในสังคมนั้นออกจะใหญ่โตและสับสนอยู่มาก หรือไม่น้อยกว่าเครือข่ายทางอำนาจในแบบเดิม
หรือว่าเราอาจจะหลงไปว่าการทำความเข้าใจเครือข่ายทางอำนาจของคุณทักษิณนั้นทำได้ไม่ยากเพราะทุกอย่างนั้นเห็นกันอยู่ตรงหน้า เมื่อเทียบกับเครือข่ายอำมาตย์แบบเดิม
หากจะนึกถึงวรรคทองวรรคหนึ่งของทักษิณที่เคยมีนักวิชาการกล่าวถึงมานานแล้วว่า "ประเทศก็เหมือนบริษัท" หรือ เคยได้ยินนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์กล่าวในวันแรกที่ชนะเลือกตั้งว่าการบริหารรัฐกับการบริหารบริษัทนั้นต่างกันที่เรื่องของขนาดในการบริหารนั้น สิ่งที่เรากำลังเรียนรู้จากระบอบที่ดำเนินอยู่นี้ก็คือ ท่ามกลางเครือข่ายอันมหาศาลของรัฐบาลนี้ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างองคาพยพต่างๆ นั้นจะเป็นไปอย่างไร
จากวันหนึ่งที่เราอาจไม่ค่อยรู้สึกว่า พรรคเพื่อไทยนั้นมีความเป็นสถาบันมากนัก แต่เมื่อการขับเคลื่อนกฎหมายในครั้งนี้ดำเนินไปได้เช่นนี้เราอาจจะต้องกลับมาประเมินกลไกของพรรคเพื่อไทย และความเชื่อมโยงของพรรคเพื่อไทยกับส่วนต่างๆ เสียใหม่ก็อาจเป็นได้ แทนที่เราจะประเมินง่ายๆ ว่าพรรคเพื่อไทยนั้นไม่มีอะไรนอกไปจากศูนย์รวมของนักการเมืองแต่ละก๊วนแก๊ง
ทั้งที่การขับเคลื่อนต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งลักษณะของการโฟนอินหลายครั้งนั้นก็ไม่สามารถทำให้เราเข้าใจแต่เพียงว่าทุกอย่างนั้นสามารถทำได้ตามคำสั่งจากแดนไกลเท่านั้น ยิ่งเมื่อตัวของพรรคเองก็จำต้องบริหารการเลือกตั้งที่ย่อมจะต้องมาถึงไม่ช้าก็เร็วอยู่ดี
สำหรับในแง่ของการเมืองมวลชนนั้น ผมเองก็คิดว่าเราคงจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่าการเมืองของมวลชนนั้นไม่อาจแยกขาดกับการเมืองทั้งในแบบอำมาตย์และการเมืองแบบพรรคการเมืองได้ ทั้งในความสัมพันธ์ในแง่ของการอ้างอิง (ทางบวกหรือลบ) กับการเมืองชนชั้นนำ หรือในแง่ของการเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการเป็นฐานคะแนนเสียงของฝ่ายพรรคการเมือง
การเมืองมวลชนนั้นยังไงก็ไม่สามารถที่จะทำงานอย่างเป็นอิสระจากการเมืองสองแบบแรกอยู่ดี ทั้งการอ้างอิงแบบพิสูจน์ไม่ได้ หรือการเจรจาต่อรองแบบที่เปิดหน้าเล่นกัน และเอาเข้าจริงก็พูดยากว่าการเมืองแบบมวลชนนั้นจะสามารถชี้ขาดหรือเป็นสิ่งที่ก้าวไปสู่ยุคสมัยใหม่ทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้น การมองว่าการเมืองมวลชนจะเป็นสิ่งที่ใหม่และแยกขาดหรือกำหนดนำการเมืองในสองแบบแรกนั้นคงยังไม่สามารถจะเป็นจริงได้ในเร็ววันนี้
หรืออาจจะไม่เป็นจริงเอาเสียเลย ?
เอาเป็นว่า (น่าจะ) ยังมีอีกหลายยก และอีกหลายประเด็นครับ กว่าที่ทักษิณจะกลับบ้านได้ครับผม
ที่มา:มติชนรายวัน 5 พ.ย.2556
Admin : admin
view
:
1092
Post
:
2013-11-06 10:06:08
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น