กรมสุขภาพจิต ห่วงลำยอง ทำเด็กไทยก้าวร้าว
2013-10-22 13:20:33
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงสถานการณ์ความรุนแรงในสังคมไทยว่า ความรุนแรงกำลังเป็นปัญหาใหญ่ตั้งแต่ในระดับเล็กๆไปจนถึงระดับประเทศ โดยสถานการณ์ความรุนแรงได้แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของสังคมตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ไปจนถึงชุมชน และแม้แต่ในระดับประเทศ เห็นได้จากจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งที่ปรากฎเป็นข่าวและไม่เป็นข่าวเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติของศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าในประเทศไทยมีจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นทุกปี กระจายครอบคลุมทุกจังหวัด โดยพบว่า ความรุนแรงในกรณีของการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นมากที่สุด
รองลงมาคือ ความรุนแรงทางวาจา การใช้คำพูดดุด่า ดูถูก หยาบคาย ขู่ บังคับ ความรุนแรงทางเพศ การละเลยทอดทิ้ง ซึ่งถือเป็นความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบหนึ่ง โดยเมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงในครอบครัวพบว่า ความรุนแรงระหว่างสามีภรรยาเป็นอัตราส่วนมากที่สุด รองลงมาเป็นความรุนแรงที่บิดาหรือมารดากระทำต่อบุตร และความรุนแรงที่บุตรกระทำต่อบิดามารดา รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากบิดาเลี้ยงหรือมารดาเลี้ยงกระทำต่อเด็ก
“ที่น่าตกใจคือ สถิติที่พบว่า ในปี 2555 ที่ผ่านมาความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 80% เป็น 90-95% มีเด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศเฉลี่ยวันละ 5 คน ยังไม่รวมความรุนแรงที่แฝงตัวอยู่อย่างเงียบๆไม่ได้ตกเป็นข่าวอีกจำนวนมากด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว และว่า จากสถิติข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงได้เข้ามาอยู่ในบ้านซึ่งเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่จะส่งผลต่อการเกิดความรุนแรงในสังคมได้ต่อไปในอนาคต
นพ.เจษฎา กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลผลวิจัยของโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ที่ทำการสำรวจในกลุ่มเด็กเยาวชน 150,000 คนทั่วประเทศ พบว่าเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. ตกอยู่ในวังวนของการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังกันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ประมาณ 1 ใน 10 หรือประมาณ 700,000 คน จากจำนวนนักเรียนในระดับมัธยม ศึกษา ปวช. และ ปวส. ทั้งหมด และมีแนวโน้ม เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชนนั้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ ความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งเด็กได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นรวมทั้งการนำเสนอของสื่อต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงความรุนแรงทั้งรูป ของการละเล่น ภาพยนตร์ ข่าว โดยเฉพาะละครบางเรื่องที่มีฉากและคำพูดที่กระตุ้นและเป็นสิ่งเร้าที่อาจจะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงมากขึ้น
“อย่างละครทองเนื้อเก้า ที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้ แม้โดยเนื้อหาของเรื่อง ผู้แสดง จะเป็นสิ่งที่ดี ให้ข้อคิดแก่ผู้ชมแต่สิ่งหนึ่ง ที่อยากให้ระวังคือการดูแลเด็กในระหว่างการชมละครที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญให้มาก เพราะหลายฉาก มีถ้อยคำและพฤติกรรมของความรุนแรงที่เด็กอาจจะซึมซับได้ ไม่ว่าจะเป็นฉากดื่มสุรา เล่นการพนัน ทุบตี ด่าทอ และการทะเลาะกันระหว่างสามี ภรรยา ที่ล้วนแล้วแต่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็ก โดยเฉพาะขณะนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนที่เด็กอาจจะได้ดูละครในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้น” นพ.เจษฎา กล่าว
Admin : admin
view
:
1659
Post
:
2013-10-22 13:20:33
เรื่องราวใหม่ๆ
- เก็บตกเบื้องหลัง Dr.Strange ก่อนใส่ CGI เพิ่มความอลังการ!!!
- เผยโฉมหน้า 8 นักพากย์ตัวการ์ตูนดังรุ่นเดอะ!!!
- ชุดทศพักตร์นารีศรีสยาม คว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม Miss Intercontinental 2016
- 15 สาวสุดเซ็กซี่แห่งจักรวาลหนัง “ซุปเปอร์ฮีโร่”
- ประมูลเก้าอี้นั่งเขียนหนังสือแสนธรรมดาของ ' เจ. เค. โรว์ลิง ' เจ้าของนิยายชุดพ่อมดน้อย ' แฮร์รี่ พอตเตอร์ ' ราคาหลักล้าน !!!
ร่วมแสดงความคิดเห็น