ไทยสุดเจ๋ง ผลิตชุดตรวจดื้อยาHIV ได้ชุดแรกในอาเซียน
2013-09-20 11:07:17
แพทย์ชี้กลุ่มชายรักชายร้อยละ 5 ติดเชื้อดื้อยาต้านไวรัส HIV โดยไม่รู้ตัว โชว์ชุดตรวจการดื้อยาฝีมือของคนไทยชุดแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรวจได้เร็วสุดในเวลา 2 วัน เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ และแนะนำชุดตรวจเชื้อดื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี (HIV) แก่ศูนย์บริการตรวจห้องปฏิบัติการ 30 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ นพ.สมชาย แสงกิจพร ผอ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี จะสามารถมีชีวิตได้ยืนยาวเท่ากับคนทั่วไป หากได้รับยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกจะมีผู้ที่ดื้อยาอยู่ ในอัตราร้อยละ 20 ซึ่ง จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการใช้ชีวิตได้น้อยลง ดังนั้นทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงร่วมกันพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อดื้อยาต้านไวรัส โดยทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้คิดค้น และทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ทดสอบและประเมินผล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรู้ตัวว่าดื้อยาหรือไม่ เพื่อที่จะได้ทำการเปลี่ยนยา และจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้ยาวนานขึ้น นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะรอง ผอ.HIV-NAT และ ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ชุดทดสอบตรวจหาเชื้อดื้อยาดังกล่าวเป็นฝีมือของคนไทยชุดแรก และถือว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยเป็นแห่งแรกที่พัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวขึ้นมาได้ โดยชุดทดสอบนี้จะใช้เวลาในการตรวจหาเชื้อดื้อยาได้เร็วสุดภายในเวลา 2 วัน และมีราคาถูกกว่าชุดทดสอบจากต่างประเทศร้อยละ 50 โดยอัตราการดื้อยาต้านไวรัสในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ใน 5 มีปัจจัยมาจากการกินยาไม่ตรงเวลา นอกจากนี้ยังพบอีกปัญหาที่น่าห่วงคือในกลุ่มชายรักชาย เนื่องจากข้อมูลของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ พบว่าในกลุ่มชายรักชายที่ติดเชื้อเอชไอวี มีร้อยละ 5 ที่ได้รับเชื้อดื้อยา ทั้งที่ยังไม่ได้กินยาต้าน โดยเป็นการได้รับเชื้อดื้อยาจากคู่ขาของกลุ่มชายรักชายด้วยกันเอง นพ.เกียรติ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นในผู้ป่วยหากพบว่ามีปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือดมากกว่า 1,000 ตัวต่อซีซี ควรที่จะต้องตรวจหาเชื้อดื้อยา เพราะจะส่งผลต่อการให้ยาต้านไวรัสของแพทย์ด้วย เนื่องจากหากให้ผู้ป่วยที่ดื้อยากินยาต้านไวรัสตัวเดิมไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้ผู้ป่วยหมดโอกาสในการกินยาต้านไวรัสในกลุ่มเดียวกันไปในทันที.
Admin : admin
view
:
1426
Post
:
2013-09-20 11:07:17
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น