มีประโยชน์อะไร?...ที่จะมีชัยชนะกัน บนกองซากปรักหักพัง ของประเทศ
2013-08-05 11:17:40





"ผมอยู่ดูไบติดตามความวุ่นวายในกรุงเทพฯ รู้สึกเป็นห่วง เพราะนั่งพินิจแกนนำทีละคนเลย อดนึกถึงช่วงเป็นนายกฯไม่ได้ หลายคนในนั้นผมรู้จักดี มีรายชื่อ นายทหาร นายตำรวจบำนาญหลายคน ที่พวกนี้ มันอ้างว่า ร่วมด้วย ผมไม่เชื่อ เพราะชื่อส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่มีประวัติการทำงานดี เป็นเพื่อนร่วมงานท่ีดี พอเช็กไปก็ร้องเสียงหลงหลายคน เพราะไม่รู้เรื่อง ถูกนักโกหกเหล่านี้ เอาชื่อไปอ้าง มีร่วมจริง ก็แต่ผู้ที่เคยอกหักจากตำแหน่งที่ฝัน อยากเป็นแต่ไม่ได้ ที่ไม่ได้ก็เพราะกองทัพ เขาไม่รับไม่ใช่ผมมีอคติส่วนตัว แต่ความแค้นแกติดมายาว บางคนตั้งแต่ปี 2544 บางคนปี 2545/46 อกหัก เพราะมาวิ่งแล้วไม่สำเร็จ แกนนำอีกหลายคน ก็ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีอาชีพเป็นหลักเป็นฐาน ผมเลยสงสัยว่า จะเป็นม็อบตังค์ทอนหรือเปล่า เพราะไม่มีเหตุผลอะไรเลย แต่ปชป. ก็เห็นดีด้วยปชป.ต้องอดทนนิดหนึ่ง เพราะสมัยที่คุณร่วมกับคนไม่ดีในพรรคผมขโมย ส.ส.ผมไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร คุณยังใช้เสียงข้างมาก แก้รัฐธรรมนูญ ตามใจคุณมาแล้ว จะมาล้มอะไรกับระบอบทักษิณซึ่งมันไม่มีอยู่จริง บอกประชาชนตรงๆ ไปเลยว่า อยากเป็นรัฐบาลเต็มทีแล้ว กำลังจะลงแดงแล้ว แต่แค่นั้นไม่พอ เพราะต้องทำงาน นายกฯก็ประกาศเปิดเวทีเชิญชวนทุกฝ่าย มาร่วมมองไปข้างหน้าด้วยกันว่า เราอยากเห็นประเทศเป็นอย่างไร มีกติกาการอยู่ร่วมกันอย่างไร ใครจะรักษากติกาบ้าง มัวแต่ชี้นิ้วใส่กัน ก็ไม่ต้องเริ่มต้นให้ประเทศได้เดินหน้า แล้วลูกหลาน จะอยู่ได้อย่างไรกับอนาคต ที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกวัน มองไปข้างหน้าดีกว่า คำหลักของนายกฯในการบอกว่า เราคิดอย่างไรกับประชาธิปไตยใหม่ ที่ควรจะเป็น คือ ผู้ชนะต้องไม่กวาดหมด (no winner take all anymore) และ Inclusive not exclusive คือ การต้องมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สุดท้ายต้องไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความหวาดระแวง เพราะประเทศ ต้องการพลังร่วมของคนในชาติ ปชป.รู้สึกเดือดแค้น เรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งก็เน้นภาคประชาชน ที่ทั้งเหลืองทั้งแดง ที่สำคัญ คือ มีความไม่ยุติธรรมในระบบ ก็ควรจะยกโทษให้เสีย" พ.ต.ท.ทักษิณ ทวิตเตอร์ กับลีลาทวิตเตอร์ จากดูไบ ที่ทั้ง ดุ!เด็ด!เผ็ด!มันส์! ของ พ.ต.ท.ทักษิิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็น นายใหญ่ แห่งพรรคเพื่อไทย อัดกลับ กลุ่มม็อบที่กำลังชุมนุม และพรรคปชป. สังเกตชัดว่า ถือเป็นการเรียกแขกฝ่ายต่อต้าน และเปิดแนวรบในโลกออนไลน์ อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังรัฐบาลยิ่่งลักษณ์ตัดสินใจประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ตั้งแต่วันที่ 1-10 ส.ค.ในพื้นที่ 3 เขต ของกทม. ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ออกกล่าวในโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เชิญชวนให้ตัวแทนของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง และเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ทุกฝ่าย ทุกสี เห็นแก่ความสงบของประเทศชาติ หันหน้าเข้ามาหารือพูดคุยกัน ในเวทีสภาปฏิรูปการเมืองและหาทางออกให้ประเทศ ที่รัฐบาลเตรียมจัดขึ้น โดยได้ส่งตัวแทนอย่าง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เข้าไปเชื้อเชิญทุกฝ่าย ทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ออกมาเด้งรับ พร้อมเข้าร่วมหารือในทันที ขณะรัฐยังเดินหน้า เชื้อเชิญ ระดับผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศ ที่ปรากฏชื่อแล้ว อาทิ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (บิ๊กจิ๋วหวานเจี๊ยบ) และ ศ.ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)ในวันนี้ (5 ส.ค.) ซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะทั้งสองคนมีแนวโน้มตอบรับ ค่อนข้างชัดเจน "ดิฉัน ขอเสนอแนวทาง เพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยการวางทิศทางข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วม ทิ้งความขัดแย้งไว้ในใจเพื่อประเทศของเรา โดยเปิดเวทีการระดมความคิดเห็น ที่จะขอเชิญชวนตัวแทนจากกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ มาร่วมโต๊ะพูดคุย ออกแบบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของเรา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ดิฉันต้องการเห็น บรรยากาศของความร่วมมือ ไม่ใช่การจ้องจับผิด แต่การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ละเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเมื่อหารือกันแล้ว ดิฉันใคร่เสนอ ให้มีการวางกลไกที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของคณะทำงานหรือเรียกชื่ออื่น ตามความเหมาะสมเพื่อเป็น กลไกที่ทำหน้าที่ในการปฏิรูปทางการเมือง โดยกลไกดังกล่าว จะเป็นเวทีสำคัญในการวางรากฐานอนาคตในโครงสร้างทางการเมือง กำหนดแนวทางปฏิรูปกฎหมาย และวางพื้นฐานระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ยั่งยืน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกฝ่ายจะเข้าใจถึงความปรารถนาดีของดิฉันในครั้งนี้ และวันนี้ดิฉันไม่ได้บอกว่า จะให้ทุกท่านลืมอดีต แต่เราต้องนำอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อทำให้ประเทศของเราเดินหน้า ก้าวพ้นความขัดแย้ง เราต้องเปิดโอกาสให้เปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นบรรยากาศของความคิด สร้างสรรค์และไว้ใจกัน เพื่อเป็นการมุ่งสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับอนาคตลูกหลานของเรา และไม่ควรทิ้งมรดกของความขัดแย้งให้เป็นภาระของรุ่นต่อไป" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ปัญหาที่ถือได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ยังตีไม่แตก ก็อย่างที่เห็น พรรค"พระแม่ธรณีบีบมวยผม" อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค รวมไปถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นผู้ใหญ่ของพรรค และเป็นหัวขบวนในการต่อต้าน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รัฐมีคิวจะพิจารณาในวันที่ 7 ส.ค. นี้ ส่งสัญญาณเข้มขั้นพร้อมแตกหักนำม็อบออกมาประท้วงนอกสภาฯ หากรัฐยังดื้อผ่าน ร่างพ.ร.บ ฉบับนี้ ผนวกกับสารพัดม็อบ โดยเฉพาะ กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ที่ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ายึดสวนลุมพินี "ลั่นระฆัง-อ่านแถลงการณ์" เตรียมเคลื่อนไหวใหญ่ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ บริเวณหน้ารัฐสภา ถึงนาทีนี้ หากบอกว่า รัฐบาล ยังมั่นใจ จะสามารถฝ่าแนวต้านไปได้ โดยไม่กระทบเสถียรภาพของรัฐ ก็อาจเป็นการหลอกตัวเองจนเกินไป ไม่เช่นนั้น คงไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ในวันที่ 1-10 ส.ค. ในพื้นที่ 3 เขต กทม. ระดมกำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่จำนวนมากถึง 224 กองร้อย เตรียมรับมือเป็นแน่ สถานการณ์บ้านเมืองเข้าขั้นตึงเครียด ร้อนแรงเหมือน ต้องการเอาประเทศเป็นเดิมพัน คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า สุดท้ายแล้วฝ่ายไหน จะเป็นผู้ชนะ ทั้งฝ่ายรัฐบาลที่ตั้งท่าจะเข็น พ.ร.บ.ปรองดอง ผ่านวาระ 1 ในสภาให้ได้ แบบที่เรียกว่า"ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศ ก็ไม่สน"หรือ กับท่าทีของฝ่ายต่อต้าน ที่แกนนำถึงกับ ประกาศต้องขัดขวาง ร่างกฎหมายนิรโทษฯฉบับนี้ ไม่ให้ผ่านสภาฯให้ได้ แบบที่เรียกว่า"เป็นไงก็เป็นกัน" แต่คำถาม ที่อยากจะรู้คำตอบ ของทั้ง 2 ฝ่าย ก็คือ มีความจำเป็นอะไรหนักหนา ที่การเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ต้องผลักดันประเทศมาจนถึงจุดนี้ จุดที่สุ่มเสี่ยง ที่จะเกิดความรุนแรง วุ่นวาย สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือ ให้กับประเทศไทย เหมือนกับปี 2552-2553 ที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐ ต้องออกมาตอบคำถามประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่เลือกข้าง และเลือกสีให้ได้ว่า เหตุใด ทั้งที่เห็นและรู้อยู่ว่า หากเลือกแนวทาง ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรง ชนิด"ปรอทแทบแตก"อย่างที่กำลังเป็นอยู่ แต่ก็ยังตัดสินใจเดินหน้าทั้งยังมีอีกหลายแนวทางให้เลือกเดิน หรือ เป็นอย่างที่ฝ่ายต่อต้าน ออกมาทักว่า เพราะมั่นใจในฐานเสียงของตัวเอง อย่าง นปช.จนเกินไป ไม่เช่นนั้นรัฐเอง ก็ถูกแกนนำนปช. ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ คือ เนื้อแดียวกับรัฐบาลเพื่อไทย กดดันเอา เนื่องจากกลุ่มแกนนำแต่ละคน ก็ติดคดีความ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายคดีศาลก็ใกล้ตัดสินแล้ว หรือ ข้อสงสัย หนักสุด หนีไม่พ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายนายกรัฐมนตรีหญิง นายใหญ่พรรคเพื่อไทย ที่ส่งสัญญาณถี่ คิดถึงบ้าน และอยากกลับบ้านแล้วก่อนหน้า หรือต้องการช่วยประชาชน ที่ยังถูกจองจำในเรือนจำ โดยไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำม็อบ และผู้สั่งการ อย่างที่ปากว่าจริงๆ หรือ จะเป็นการเปิดประเด็น ปูด รัฐเจตนาเบี่ยงเบนประเด็นคัดค้านนิรโทษฯ ให้คนไปสนใจ การปฏิรูปการเมือง และรัฐก็จะใช้โอกาสนี้ ลักไก่ ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ปฏิรูปการเมือง คือ ต้องการปูทางไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ โดยที่จะตัดมาตรารธน.ม. 309 ออกไป เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญใหม่ ขัดกับกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งสุดท้าย จะจบที่ผลประโยชน์คนๆ เดียว ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ขณะที่ฝ่ายต่อต้านอย่างพรรคปชป.และกลุ่มม็อบก็ต้องตอบคำถามสังคม ให้ได้เช่นกันว่า เหตุใดถึงต้องประกาศต่อต้านแบบชนิด"เอาเป็นเอาตาย" ทำเอาประเทศร้อนเป็นไฟ ถ้าจะลองให้รัฐบาล ผ่านกฎหมายวาระ 1 ไปก่อนแล้ว ไปรอสังเกตการณ์ดูว่า รัฐบาลจะสอดไส้ร่างกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ และเหล่าแกนนำให้พ้นความผิดจริงๆ หรือไม่? โดยถ้าไม่เป็นไปตาม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร หรือ แม้แต่เจ้าของ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ อย่าง นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เพื่อไทย ออกมา ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับทักษิณ และแกนนำ ถึงตอนนั้น ถ้าปชป.จะระดมม็อบออกมาก็ไม่สาย เพราะด้วยศักยภาพพรรคปชป.แล้ว ก็อย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ระบุ แค่ "เป่านกหวีดปี๊ดเดียว"เรื่องระดมคนซัก 5 พันคน จิ๊บจ๊อยมาก ทั้งนี้เชื่อว่า จะได้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วย เป็นจำนวนมาก ดีไม่ดีม็อบอาจจุดติดขึ้นมาดื้อๆ เลยทีเดียว ถึงตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์คงอยู่ไม่ได้ ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นการตอกย้ำ และสร้างความชอบธรรม ในการขับไล่รัฐบาล เพราะตอกย้ำว่า มุ่งหวังที่จะช่วยเหลือพี่ชาย และกลุ่มแกนนำเสื้อแดงให้พ้นผิด โดยไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ การที่ฝ่ายต่อต้าน เร่งเกม ทั้งที่เรื่องดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้น อาจทำให้ขาดแนวร่วมฯประชาชนไปเป็นจำนวนมาก แต่ถ้ามองว่า ที่ต้องเร่งออกมา เพราะต้องการ "เผาหัวเชื่้อ" ไว้ก่อน เพราะหากปล่อยสถานการณ์ เลยไปถึงจุดนั้นอาจไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า มีข้อแม้ที่สำคัญ คือ ต้องไม่พามวลชนเข้าปะทะกัน ทำให้เกิดความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย อย่างเด็ดขาด ถึงนาทีนี้ ยังพอเป็นไปได้หรือไม่? ที่ทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกัน จะได้ฉุกคิด และหยุดนำประเทศชาติและประชาชนไปหยุดอยู่บน "ปากเหว" แล้วหันหน้ามาหารือกัน เป็นไปได้หรือไม่? ที่รัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ จะยุติการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษฯ ออกไปก่อน แล้วหันมาพูดคุยกัน ไม่ใช่ด้านหนึ่งนายกฯเปิดเวทีปฏิรูปฯให้ทุกฝ่ายพูดคุยเสนอความเห็น แต่อีกด้านก็ยังเดินหน้าเร่งผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป ทั้งๆ ที่รู้ และก็น่าจะเห็นอยู่แล้วว่า เบื้องหน้าที่จะเดินไปจะเจอกับอะไร แล้วจะมีประโยชน์อะไร....ที่จะมีชัยชนะบนกองซากปรักหักพัง...ของประเทศ ดังนั้นขอให้ผู้มีอำนาจที่แท้จริง ทั้งที่อยู่เบื้องหน้า และเบื้องหลังได้ไตร่ตรองดู
Admin : admin
view
:
906

Post
:
2013-08-05 11:17:40


ร่วมแสดงความคิดเห็น