ประวัติ ครูบาศรีวิชัย
2013-07-16 12:14:25





วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 ตามที่ได้แจ้งข่าวให้เพื่อน ๆ ได้ทราบไปเมื่อวันก่อน ในการสัมมนาหลวงพ่อพระราชปริยัติเมธี มาเป็นประธาน ท่านให้โอวาทเกี่ยวกับเรื่องครูบาไว้น่าคิดว่า "ในทัศนะของผมเอง ครูบาศรีวิชัยคือต้นแบบที่ดีงามของครูบา" จึงขอนำประวัติของท่านครูบาโดยย่อมาเล่าให้เจริญศรัทธาก่อนครับ ประวัติและปฏิปทา ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย พระมหาเถระผู้ยิ่งใหญ่ด้วยทานะ สีละ สัจจะ ขันติ วัดบ้านปาง ต.ศรีวิชัย อ.ลี้ จ.ลำพูน ชาตะ ๑๑ มิถนายน ๒๔๒๑ มรณะ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ “ต๋นข้าพระศรีวิชัยภิกขุ เกิดมาปิ๋เปิ๋กยี จุลศักราช ๑๒๔๐ ตั๋วพุทธศักราช ๒๔๒๐ ปรารถนาขอหื้อข้าฯ ได้ตรัสรู้ปัญญาสัพพัญญูโพธิญาณเจ้าจิ่มเตอะ” ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น “ตนบุญ” หรือ “นักบุญ” อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรี วิชัย พระครูบาศรีวิชัย หรือครูบาศีลธรรม แต่ท่านมักเรียกตนเองว่า พระชัยยา ภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อ เฟือน หรืออินท์เฟือน บ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ “บ้านปาง” ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยยังเป็นเด็ก หมู่บ้านดังกล่าวมีชน กลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัตติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัตติยะ เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้น ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโย ภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย บางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต แม่ทา ลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกรูปหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของท่านคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป (บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยัง บริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง มาถึงปัีจจุบัน ตามชื่อของหมู่บ้าน ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง, วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา, วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ, วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก, วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย, วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (สาหร่ายน้ำจืดสีเขียว) วันเสาร์ ไม่ฉันบอน นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐาน บารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า “...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว...” และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง ข้าพเจ้าเห็นว่าผลงานชิ้นเอกที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลัง ศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ด้วยเวลาเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐเลย แนวปฏิบัติของครูบาศรีวิชัย ท่านครูบาปฏิบัติ ตามแนวของพระสงฆ์นิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยอง ซึ่งบางอย่างต่างจากนิกายอื่นๆ เช่น การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก(ว่อม) แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแต โดยอ้างว่าสืบวิธีการนี้มาจากลังกา ๏ ผลงานชิ้นสำคัญ การสร้างถนนขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ แน่นอนทีเดียว การมีถนนขึ้นดอยสุเทพนั้นย่อมมีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะผู้คนที่ศรัทธาจะได้ขึ้นไปไหว้พระธาตุอันสำคัญนี้ได้ทั่วถึงกัน ครูบาศรีวิชัยนักบุญแห่งลานนาไทยนี่เองคือผู้สร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ซึ่งนับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่านอีกงานหนึ่ง ถนนขึ้นเขาระยะทางยาว ๑๑ กิโลเมตร ในสมัยที่ยังไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ทุ่นแรงเหมือนทุกวันนี้ ครูบาศรีวิชัยท่านทำได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ทางฝ่ายบ้านเมืองได้พยายามที่จะสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพมาหลายครั้งหลายหนแต่ต้องประสบความผิดหวังทุกคราว เพราะไม่สามารถจะสร้างได้ ทั้งปัญหาจากงบประมาณ และความทุรกันดารของป่าเขาที่จะต้องตัดถนนผ่าน แต่ครูบาศรีวิชัย นำศรัทธาประชาชน ร่วมบุญกันสร้างถนนด้วยพลังศรัทธา แถมใช้เวลาเพียง ๕ เดือน ๒๒ วันเท่านั้น ครูบาศรีวิชัยได้พิสูจน์คำเล่าลือของชาวบ้านและสานุศิษย์ที่นับถือท่านว่า เป็น “ต๋นบุญ” หรือ “ผู้วิเศษ” อย่างแท้จริง ๏ ขอ ๖ เดือน ครูบาศรีวิชัยได้รับปากว่าจะเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้ให้แล้วเสร็จภาย ในเวลาเพียง ๖ เดือน นั่นทำให้ หลวงศรี ประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ หนักใจยิ่งขึ้น เนื่องจากบริเวณเชิงเขาขึ้นดอยสุเทพจนถึงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพนั้น เป็นป่าใหญ่และหุบเหวลึกหลายต่อหลายแห่ง การที่จะสร้างถนนได้นั้นต้องสำรวจทางแผนที่ จัดทำรายละเอียดเส้นทางที่จะสร้างและอื่นๆ อีกมาก หลวงศรีประกาศได้รับเป็นธุระเรื่องนี้ การสำรวจเส้นทางถนนสายนี้ใช้เวลาเป็นเดือนเลยทีเดียว ในที่สุดก็สำเร็จ หลวงศรีประกาศได้นำเอาแผนที่เสนอให้ครูบาศรีวิชัยดูแนวการสร้างถนน ซึ่งครูบาศรีวิชัยก็เห็นด้วย รวมระยะทางจากเชิงดอยสุเทพถึงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ ทั้งหมด ๑๑ กิโลเมตร ๕๓๐ เมตร ๏ ใบปลิวเจ็กโหงว ข่าวเรื่องครูบาศรีวิชัยจะสร้างถนนได้แพร่ออกไปเรื่อยๆ เป็นที่กล่าวขวัญกันทั่วไป ส่วนใหญ่แล้วเห็นว่า การสร้างถนนสายนี้ทำได้ยาก แต่บรรดาสานุศิษย์และผู้ใกล้ชิดพระครูทั้งหลายต่างเชื่อว่า ท่านสามารถทำได้อย่างแน่นอน ในจำนวนนั้นก็มีเจ๊กโหงวรวมอยู่ด้วย ทันทีที่เจ็กโหงวรู้ข่าวก็รีบไปหาครูบาศรีวิชัยอย่างเคย ถึงแม้จะถูกลอบยิงปางตายมาแล้วก็ตาม ความช่วยเหลือสิ่งแรกของเจ็กโหงวก็คือการพิมพ์ใบปลิวบอกข่าวเรื่องพระครูจะ สร้างถนนโดยใช้เงินส่วนตัวพิมพ์ขึ้น ๕ พันแผ่น แจกจ่ายทั่วไป ต่อมาเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ก็มีศรัทธาช่วยพิมพ์อีก ๕ พันแผ่นเช่นเดียวกัน ทำให้ข่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ๏ จอบแรก ครูบาศรีวิชัยได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการสร้างถนนขึ้นดอยสุ เทพ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ และพิธีทางประวัติศาสตร์อันจารึกไว้คู่นครเชียงใหม่ก็เริ่มขึ้น ท่ามกลางประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูนเป็นจำนวนมาก เวลา ๐๑.๐๐ น. ของวันที่ ๙ พระครูบาเถิ้มประกอบพิธีชุมนุมเทวดา บวงสรวงอันเชิญเทวดาทั้ง ๔ ทิศ เวลา ๑๐.๐๐ น. จึงเริ่มลงจอบแรก เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทรงเป็นผู้ขุดจอบแรกเป็นปฐมฤกษ์ เริ่มต้นงานอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงสวดชยันโตชัยมงคลคาถา จากภิกษุสานุศิษย์ของท่านพระครูบาศรีวิชัย หลังจากวันนั้นก็ได้มีประชาชน จากทั่วสารทิศมาช่วยกันสร้างถนนร่วมเป็นอานิสงส์พร้อมกับนมัสการ ท่านพระครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก จนถึงกับต้องแบ่งพื้นที่การสร้างเป็นระยะๆ ในตอนเช้าก็ได้มีประชาชนนำเอาข้าวสารอาหารพืชผักและอาหารคาวหวาน มาทำบุญกันอย่างล้นหลาม ยิ่งนานวันคนยิ่งทวีมากขึ้น ผลงานรุดหน้าในแต่ละวัน เป็นที่น่าอัศจรรย์ ต่างก็อยากทำบุญกุศลและชมบุญญาธิการบารมีของพระครูบาศรีวิชัย ในที่สุดถนนที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นก็สำเร็จลง ภายในระยะเวลา ๕ เดือน ๒๒ วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วมากโดยไม่ต้องใช้งบประมาณ แผ่นดินเลยแม้แต่บาทเดียว นี่คือบารมีของครูบาศรีวิชัยโดยแท้ ๏ รถยนต์คันแรก วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ คือวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของนครเชียงใหม่ เพราะเป็นวันเปิดถนนให้รถขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ครูบาศรีวิชัย ครูบาเถิ้ง หลวงศรีประกาศ เถ้าแก่โหงว และบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ มาชุมนุมอยู่กันอย่างพร้อมพรั่งเพื่อรอเวลาที่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จะมาทำพิธีเปิดถนนขึ้นดอยสุเทพ และประดับรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นคันแรก ครั้นได้เวลา รถยนต์ของเจ้าแก้วนวรัฐก็แล่นมาถึงปะรำพิธีที่เชิงดอยสุเทพ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และก็ประทับรถยนต์เรื่อยขึ้นไปตามถนนที่เพิ่งสร้างเสร็จ จนกระทั่งถึงเชิงบันไดนาค วัดพระบรมธาตุวัดดอยสุเทพ ใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ ตามสภาพถนนที่เป็นเพียงดินในครั้งนั้น เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เสด็จขึ้นไปทรงนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ แล้วประทับรถยนต์เสด็จสู่นครเชียงใหม่ ดอยสุเทพก็มีถนนสำหรับรถยนต์ขึ้นไปนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ถนนสายนั้นเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีชื่อว่า ถนนดอยสุเทพ ครั้นต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็น ถนนศรีวิชัย เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ซึ่งเป็นประธานในการสร้างถนนสายนี้.... บางคนไม่รู้ซึ้งหรือรู้เพียงผิวเผินก็เข้าใจว่าท่านพระครูบา ไม่ค่อยรู้หลักธรรมวินัยเป็นพระบ้านนอกบ้านป่า แต่หากลองนึกพิจารณาด้วยจิตอันสุขุม จะเห็นได้ว่าท่านพระครูบาเจ้าเป็นคนซื่อสัตย์มีแต่ความบริสุทธิ์ ท่านไม่ยอมค้อมหัวให้กิเลส ใครจะบังคับหรือขู่เข็นอย่างไร ในการที่จะรับเอาวิ่งที่ไม่ใช่ธรรมวินัยอย่าพึงหวัง ๏ คำสั่งสอนของท่านพระครูบาศรีวิชัย เครื่องประดับขัติยะนารีทั้งหลาย มีแก้วแหวนเงินทอง เป็นตัณหากามคุณ เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สำหรับนำความทุกข์มาใส่ตัวโดยบ่มีประโยชน์สิ่งใดเลย แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง ๕ แม่น้ำนี้ แม้นจักเอามาอาบให้หมดทั้ง ๕ แม่นี้ ก็บ่ อาจจะล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ ลมฝนลูกเห็บ แม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็นและหนาวสักปานใด ก็บ่อาจเย็นเข้าไปถึงภายในให้หายจากความทุกขเวทนาได้ ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิ ความตั้งมั่นก็จะมีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้นได้ คือ ให้หมั่นรำลึกถึงตัวตนอยู่เสมอว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วย ปัญญาของตน จึงเป็นสมุทเฉทประหานกิเลสหมดแล้ว จิตเป็นวิมุติหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้ http://i973.photobucket.com/albums/ae218/schaiwong/268_1244636656jpg_213.jpg ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง “นั่งหนัก” อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อ สร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นจึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตาม ที่ต่างๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน อันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น
Admin : admin
view
:
1614

Post
:
2013-07-16 12:14:25


ร่วมแสดงความคิดเห็น