นักบินชั่วโมงขับ 'โบอิ้ง777' น้อย
2013-07-09 11:32:52



สายการบินเอเชียนา แอร์ไลน์ส ผู้ให้บริการเครื่องบินโบอิ้ง 777 ซึ่งประสบอุบัติเหตุตกที่ซานฟรานซิสโก เผยว่ากัปตันมีประสบการณ์การบินด้วยเครื่องรุ่นดังกล่าวน้อย ขณะที่ทีมสืบสวนของสหรัฐฯ กำลังมุ่งเป้ามาที่ลูกเรือ วันที่ 8 ก.ค. ว่า เดโบราห์ เฮอร์แมน ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติ (เอ็นทีเอสบี) เผย เจ้าหน้าที่สืบสวนกรณีเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 777-200ER ของสายการบิน เอเชียนา แอร์ไลน์ส ประสบอุบัติเหตุตกที่ท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโก จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ศพ และบาดเจ็บ 182 คน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กำลังมุ่งความสนใจไปที่ลูกเรือและเครื่องบิน เพื่อทำความเข้าใจว่า เหตุใดเครื่องจึงชนกับกำแพงกันคลื่นที่ปลายรันเวย์ก่อนตกกระแทกกับพื้น เมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ (6 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เที่ยวบิน OZ214 ประกอบด้วยผู้โดยสาร 291 คน และลูกเรืออีก 16 คน เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ใช้เวลาเดินทางราว 10 ชั่วโมง 23 นาที ถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่กลับประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดที่สนามบินซานฟรานซิสโก โดยหางเครื่องบินกระแทกเข้ากับกำแพงกั้นคลื่นที่ปลายรันเวย์จนฉีกออก ส่วนตัวเครื่องไถลจนตกรันเวย์และเกิดไฟลุกท่วม นางเฮอร์แมนเผยในรายการ 'นิว เดย์' ของสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น ว่า เรากำลังมุ่งประเด็นไปที่ลูกเรือ ว่าพวกเขาปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ถูกฝึกมาอย่างไร พวกเรายังมุ่งความสนใจไปที่ตัวเครื่องบิน เราอยากรู้ว่าลูกเรือใช้ระบบนักบินอัตโนมัติหรือควบคุมเอง อนึ่ง โบอิ้ง 777 สามารถลงจอดได้ด้วยระบบนักบินอัติโนมัติ เช่นเดียวกับเครื่องบินสมัยใหม่ทั่วไป แต่ยังไม่แน่ชัดว่าระบบดังกล่าวถูกเปิดใช้งานขณะเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันเสาร์หรือไม่ หรือตัวนักบิน ซึ่ง สายการบินเอเชียนา แอร์ไลน์ส เผยว่า เพิ่งเคยขับเครื่องบินรุ่นนี้ลงจอดที่สนามบินซานฟรานซิสโกเป็นครั้งแรก เป็นผู้บังคับเครื่องลงจอดเอง สายการบินเอเชียนา แอร์ไลน์ส เปิดเผยว่า กัปตันผู้รับผิดชอบเที่ยวบิน 214 มีชื่อว่า อี คัง-คุค ชาวเกาหลีใต้ มีประสบการณ์การขับเครื่องบินจากกรุงโซลไปซานฟรานซิสโกหลายครั้งในช่วงปี 1999 ถึง 2004 มีประชั่วโมงบินในฐานะนักบินราว 10,000 ชม. แต่เมื่อวันเสาร์ เป็นการขับโบอิ้ง 777 ครั้งที่ 9 ของเขาชั่วโมงบินเพียง 43 ชม. และเป็นการนำเครื่องดังกล่าวลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติซานฟรานซิสโกเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม นางเฮอร์แมนไม่ชี้ชัดว่านักบินต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหรือไม่ และไม่ให้ความสำคัญประเด็นเกี่ยวกับประสบการณ์ของนักบิน "ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่นักบินจะเปลี่ยนชนิดของเครื่องที่ขับ และเมื่อเคยบินไปทั่วโลกแล้ว การที่นักบินจะขับเครื่องบินไปยังสนามบินที่ไม่คุ้นเคย ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเช่นกัน" นางเฮอร์แมนกล่าว และเสริมว่า ทีมสืบสวนไม่พบหลักฐานว่าเกิดปัญหาด้านการสื่อสารในห้องขับ ขณะเดียวกัน แมรี ไชโว อดีตเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของกรมการขนส่งสหรัฐฯ ระบุว่า จากการศึกษาวิดีโอและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุโบอิ้ง 777 บ่งชี้ว่า นักบินสูญเสียการตระหนักรู้ในสถานการณ์ ขณะที่เครื่องกำลังมุ่งหน้ามายังสนามบินด้วยความเร็วต่ำกว่า 137 น็อต (157 ไมล์ต่อชั่วโมง) ตามที่ควรจะเป็น ก่อนหน้านี้ นางเฮอร์แมนเผยผลการตรวจสอบเบื้องต้น ของอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน หรือ กล่องดำ ของเครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่ประสบอุบัติเหตุว่า นักบินเพิ่มความเร็ว 7 วินาที ก่อนตก และแจ้งลงจอดล้มเหลวและเตรียมวนเพื่อลงจอดใหม่อีกครั้ง เพียง 1.5 วินาทีก่อนเครื่องตก และเครื่องบินบินลงจอดในระดับต่ำและช้าเกินไป ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ศพ เป็นวัยรุ่นหญิงชาวจีนชื่อว่า เย่ เมิ่งหยวน และ หวัง หลินเจี๋ย อายุ 16 ปีเท่ากัน เป็นหนึ่งในกลุ่มครูนักเรียน 35 คนบนเครื่องซึ่งเดินทางมาเข้าค่ายฤดูร้อน เสียชีวิตเพราะการกระแทกหลังกระเด็นออกมาจากเครื่องบินเนื่องจากเก้าอี้ที่พวกเธอนั่งอยู่ตอนหลังของตัวเครื่อง แต่จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ชันสูตร หนึ่งในผู้เคราะห์ร้าย อาจเสียชีวิตเนื่องจากถูกรถฉุกเฉินวิ่งทับ
Admin : admin
view
:
1615

Post
:
2013-07-09 11:32:52


ร่วมแสดงความคิดเห็น