มศว เจ๋ง! วิจัยเครื่องรักษามะเร็ง ทำลายเซลล์มะเร็งได้ไม่ต้องผ่าตัด
2013-07-08 11:02:05
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมวิจัยพัฒนาและให้บริการ เครื่องมือรักษาเนื้องอกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ HIFU มูลค่า 60 ล้านบาท ใช้คลื่นความร้อนยิงผ่านผิวหนังทำลายเนื้องอก-เซลล์มะเร็ง โดยไม่ต้องผ่าตัด ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เผยว่า ขณะนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ร่วมกับบริษัท เอสคูแลป คลินิก (เอเชีย) จำกัด ร่วมวิจัยพัฒนาและให้บริการ เครื่องมือรักษาเนื้องอกด้วยคลื่นเสียง ความถี่สูง หรือ High-Intensity Focused Ultrasound (HIFU) ซึ่งเป็นเครื่องมือมูลค่า 60 ล้านบาท ที่ใช้ในต่างประเทศมากกว่า 10 ปี แต่ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มนำเข้ามาใช้ และได้ทำการติดตั้งที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อ.องครักษ์ จ.นครนายก เป็นเครื่องแรกของประเทศ สำหรับการทำงานของเครื่อง HIFU มีหลักการคล้ายกับการใช้แว่นขยายที่รวมแสงอาทิตย์ให้มาตกอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน (focus) ทำให้มีความเข้มข้นของแสงสูงจนเกิดเป็นความร้อน ซึ่งแพทย์จะยิงคลื่นความร้อนนี้ผ่านผิวหนังไปยังเซลล์เนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ เลย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยมะเร็งทรวงอกจะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีนี้ได้ เนื่องจากคลื่นความร้อนไม่สามารถยิงผ่านกระดูกได้ และ ผศ.นพ.เฉลิมชัย ยังได้กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยระยะลุกลามนั้นจะเป็นการบำบัดรักษาแบบประคับประคองไม่ใช่รักษาหายขาด อย่างผู้ป่วยต่อมลูกหมากและมะเร็งตับที่เป็นค่อนข้างมาก ผ่าตัดไม่ไหวก็หันมาใช้เครื่องดังกล่าว ซึ่งจริง ๆ แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าการผ่าตัด แต่ไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัดทำให้ไม่เสียเลือด โดยผู้ป่วยรายใดที่สนใจการรักษาวิธีนี้ ขอให้ปรึกษาแพทย์ประจำของตัวเราก่อนว่าเป็นมะเร็งชนิดไหน ระดับใด ควรรักษาวิธีใด เพราะไม่ใช่ทุกรายต้องรักษาด้วยวิธีคลื่นความร้อน ซึ่งที่ผ่านมามีคนเข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ระยะลุกลาม จะหายขาดได้ด้วยเครื่องนี้ ทำให้มีผู้ป่วยแห่กันมามาก ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันศักยภาพในการบริการด้วยเครื่องดังกล่าว สามารถทำได้มากสุดวันละ 10 รายเท่านั้น และบางรายก็ไม่สามารถรักษาได้ด้วย ด้าน ผศ.นพ.วิทย์ วราวิทย์ หัวหน้าภาครังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว. องครักษ์ เผยว่า ปัจจุบัน มศว องครักษ์ ได้ใช้เครื่องดังกล่าวในการรักษามะเร็งระยะลุกลาม เพื่อบรรเทาอาการปวดจากมะเร็ง หรือทำให้ก้อนมีขนาดเล็กลงเพื่อไม่ให้ไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง ซึ่งก้อนนั้นจะต้องสามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถรักษาได้ ในเบื้องต้นทางศูนย์การแพทย์ได้มีโครงการวิจัยและเปิดให้บริการ เบื้องต้นจำนวน 2 โรคคือ มะเร็งตับและมะเร็งทางเดินน้ำดี และมะเร็งตับอ่อน แต่สำหรับมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งสมอง ไม่สามารถใช้เครื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากเครื่องนี้ไม่สามารถยิงคลื่นความร้อนผ่านกระดูกได้ และ ผศ.นพ.วิทย์ ยังกล่าวว่า สำหรับการบำบัดรักษาด้วยเครื่อง HIFU จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะพักฟื้นเพียง 3 วัน และรอดูอาการว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอีกระยะหนึ่ง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้มีความเสี่ยงของการสะสมความร้อนที่ผิวหนังและอวัยวะ มีโอกาสที่ผิวหนังจะเกิดความร้อนเหมือนโดนน้ำร้อนลวก หรืออาจมีภาวะเลือดออกในก้อนมะเร็งหรือเลือดออกในช่องท้องรวมไปถึงอวัยวะข้างเคียง เช่น ลำไส้หรือกระเพาะปัสสาวะได้รับอันตราย แต่อาการข้างเคียงเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1-2% เท่านั้น เนื่องจากระหว่างการทำมีการใช้อัลตราซาวด์ในการกำหนดตำแหน่งรักษาอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ผศ.นพ.วิทย์ ได้ย้ำว่าการรักษาด้วยเครื่องนี้ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลามให้หายขาดได้เพียงแค่บำบัดรักษา ประกอบกับในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากเนื้อมะเร็งอาจไปติดเส้นเลือดก็เป็นอีกทางเลือกในการใช้วิธีนี้ แต่การผ่าตัดก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดอยู่ดี ส่วนผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้น ขณะนี้ยังไม่ให้บริการเพราะปัจจุบันมีแนวทางรักษาอื่น ๆ ที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์มาก่อนแล้ว วิธีนี้ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา ท้ายนี้ ผศ.นพ.วิทย์ ได้กล่าวอีกว่า สำหรับค่ารักษาด้วยเครื่อง HIFU จะอยู่ที่ 58,000 บาทต่อครั้ง และไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามสิทธิการรักษาพยาบาลทุกประเภท โดยการรักษาโดยเฉลี่ยจะมากกว่า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษา ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
Admin : admin
view
:
1346
Post
:
2013-07-08 11:02:05
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น