จ่อขึ้นค่าทางด่วน คนมีรถอ่วม
2013-07-05 10:45:24
เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ใช้รถ เมื่อการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เตรียมปรับขึ้นค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ตามเงื่อนไขที่จะต้องปรับขึ้นทุกๆ 5 ปีตามสัญญาสัมปทานโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล ซึ่งมีผลผูกพันมาตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2531 และสิ้นสุดเดือน ก.พ. 2563 ทำให้ค่าผ่านทางพิเศษสำหรับโครงข่ายในเมือง (ทางพิเศษเฉลิมมหานคร : ดินแดง-ท่าเรือ, บางนา-ท่าเรือ, ดาวคะนอง-ท่าเรือ, ทางพิเศษศรีรัช ส่วน A และ B : ถนนรัชดาภิเษก-พระราม 9, พญาไท-บางโคล่) ปรับเป็น 50/75/110 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ ส่วนโครงข่ายนอกเขตเมือง (ทางพิเศษศรีรัช ส่วน C : ถนนรัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ) จะปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็น 15/20/35 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ รวมถึงโครงข่ายนอกเขตเมือง (ทางพิเศษศรีรัชส่วน D :ถนนรัชดาภิเษก-ศรีนครินทร์) จะปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็น 25/55/75 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ ขณะที่ทางพิเศษอุดรรัถยา ช่วงแจ้งวัฒนะถึงเชียงราก จะปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็น 45/100/150 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ และช่วงเชียงรากถึงบางไทร จะปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเป็น 10/20/30 บาท สำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ตามลำดับ โดยในส่วนนี้จะปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในวันที่ 1 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าทางด่วนมีมาแล้ว 3 ครั้ง เริ่มครั้งแรกปี 2541 เมื่อนับไปอีก 5 ปี ได้มีการขึ้นครั้งที่ 2 ปี 2546 และครั้งที่ 3 ปี 2551 หากรวมปีนี้ เท่ากับ 4 ครั้ง และจะปรับขึ้นราคาครั้งสุดท้ายในปี 2561 ก่อนหมดสัญญาสัมปทานในเดือนก.พ. 2563 โดยแต่ละครั้งจะปรับราคาเป็นจำนวนเต็มช่วงละ 5 บาท แต่ไม่เกินครั้งละ 10 บาทตามสัญญาข้อ 11.3 ที่ระบุว่า ในระยะ 15 ปีแรกปรับได้ไม่เกินครั้งละ 10 บาท ซึ่งราคาที่ปรับใหม่นั้น คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อและดัชนีผู้บริโภค (ซีพีไอ) ล่าสุดออกโดยกระทรวงพาณิชย์ แต่การปรับขึ้นราคาในแต่ละครั้ง พบว่ามีปัญหาจากบรรดาผู้คัดค้านไม่เห็นด้วย อย่างช่วงที่ผ่านมามีการยื่นศาลให้ระงับการปรับขึ้นจากองค์กร เอ็นจีโอต่างๆ จนเป็นคดีข้อพิพาทมากมาย เฉพาะข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับบีอีซีแอลมีมากถึง 11 คดี จากการตีความสัญญาที่ต่างกัน เป็นข้อพิพาทเรื่องค่าผ่านทาง 3 คดี ของทางพิเศษอุดรรัถยา และที่เหลือเป็นคดีทางด่วนขั้นที่ 2 นับตั้งแต่การปรับค่าผ่านทางปี 2541 ที่คดียังยืดเยื้อในชั้นคณะอนุญาโตตุลาการและศาลฎีกา หากย้อนไปเมื่อปี 2541 ขณะนั้นนายสมนึก ชัยเดชสุริยะ เป็นผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งยังสังกัดอยู่กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศขึ้นค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 โครงข่ายในเมือง รถ 4 ล้อ 40 บาท, 6–10 ล้อ 70 บาท, มากกว่า 10 ล้อ 90 บาท ส่วนโครงข่ายนอกเมืองส่วน C (ประชาชื่น–แจ้งวัฒนะ) 4 ล้อ 20 บาท 6–10 ล้อ 30 บาท มากกว่า 10 ล้อ 40 บาท ครั้งนั้นมีผู้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ว่าการปรับขึ้นราคาในส่วนโครงข่ายนอกเมือง 10 บาท เมื่อบวกกับโครงข่ายในเมืองอีก 5 บาท เท่ากับว่าการขึ้นราคา 15 บาท เกินจาก 10 บาทตามสัญญาที่กำหนด ทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยต้องทบทวน ปรับอัตราขึ้นค่าทางด่วนใหม่เป็นโครงข่ายในเมือง รถ 4 ล้อ 40 บาท 6-10 ล้อ 60 บาท มากกว่า 10 ล้อ 80 บาท ส่วนโครงข่ายนอกเมือง 4 ล้อ 15 บาท 6-10 ล้อ 20 บาท มากกว่า 10 ล้อ 30 บาท และเป็นเหตุให้บีอีซีแอล ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ส่วนผู้ว่าการทางพิเศษฯต้องแสดงความรับผิดชอบในการลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงบอร์ดทั้งคณะ กระทั่งล่าสุดปี 2556 ถึงคราวต้องปรับขึ้นราคาวันที่ 1 ก.ย.ตามสัญญาสัมปทาน นายเจือ ราชสีห์ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทบทวนมติการปรับขึ้นค่าทางด่วนทุกเส้นทาง เพื่อลดภาระความเดือดร้อนของประชาชน ตามที่นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ อดีตผู้ว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือ ขอให้ระงับ และทบทวนการออกประกาศขึ้นราคาค่าทางด่วน ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย มีมติเห็นชอบปรับขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายธรรมนูญ ให้เหตุผลว่า การปรับขึ้นค่าทางด่วนดังกล่าว ไม่คำนึงถึงความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของการจัดบริการสาธารณะที่รัฐบาลจัดให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของชาติ แต่ทำให้เอกชนและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้ประโยชน์ ไม่ใช่ประชาชน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่จะขึ้นราคาค่าทางด่วน เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนแล้ว ยังถือเป็นการบริหารงานที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน และการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการ คงต้องลุ้นอีกครั้ง การปรับขึ้นค่าทางด่วนที่จะมีผลบังคับใช้ 1 ก.ย.นี้ จะมีปัญหาอุปสรรค เหมือนที่ผ่านๆ มาเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยหรือไม่ เพราะหากมีการปรับขึ้นค่าทางด่วนตามอัตราใหม่ จะทำให้รายได้ค่าผ่านทางของการทางพิเศษแห่งประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยจะเป็นรายได้ของปีงบประมาณ 2557 เป็น 11,000 ล้านบาท จากในปี 2556 คาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท มีกำไรอยู่ที่ประมาณ 4,800 ล้านบาท เนื่องจากสัดส่วนการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางในช่วง 9 ปีสุดท้ายการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจะได้ 60% ของส่วนแบ่งรายได้
Admin : admin
view
:
1119
Post
:
2013-07-05 10:45:24
เรื่องราวใหม่ๆ
- ถุงซองนิโคติน (Nicotine Pouches) คืออะไร!?
- Snus (สนูส) คืออะไร!?
- โน๊ตบุ๊คและโน๊ตบุ๊คเล่นเกมแตกต่างกันอย่างไร เลือกใช้ยังไงให้เหมาะสม
- depa x TGA ดีป้า (depa) จับมือ ทีจีเอ (TGA ) บูรณาการความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกม (Digital Content)
- กิจกรรมการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้น WORLD YOUTH PHOTOGRAPHER WORKSHOP
ร่วมแสดงความคิดเห็น